ปัจจัยคัดสรรที่สัมพันธ์กับการดื่มแอลกอฮอล์ของประชากร เพศชายวัยผู้ใหญ่ กรุงเทพมหานคร

Main Article Content

ทิฆัมพร อ่อนละออ
นรลักขณ์ เอื้อกิจ

Abstract

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์  และศึกษาความสัมพันธ์

ระหว่างปัจจัยคัดสรร ได้แก่ อายุ ประวัติการดื่มแอลกอฮอล์ของบุคคลในครอบครัว การรับรู้สมรรถนะแห่งตนในการปฏิเสธการดื่มแอลกอฮอล์ ความคาดหวังเชิงลบในผลลัพธ์ของการดื่มแอลกอฮอล์ และความคาดหวังเชิงบวกในผลลัพธ์ของการดื่มแอลกอฮอล์ กับการดื่มแอลกอฮอล์ของประชากรเพศชายวัยผู้ใหญ่ กรุงเทพมหานคร กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้ใหญ่อายุระหว่าง 20 - 59 ปี จำนวน 120 คน เลือกโดยวิธีการสุ่มแบบหลายขั้นตอน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล การรับรู้สมรรถนะแห่งตนในการปฏิเสธการดื่มแอลกอฮอล์ ความคาดหวังเชิงลบในผลลัพธ์ของการดื่มแอลกอฮอล์ ความคาดหวังเชิงบวกในผลลัพธ์ของการดื่มแอลกอฮอล์ และการดื่มแอลกอฮอล์ ผ่านการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 5 คน  หาความเที่ยงจากการคำนวณค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาค ได้ค่าความเที่ยงเท่ากับ 0.91  0.85 และ 0.79 ตามลำดับ    สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ  ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน   ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้

          1. กลุ่มตัวอย่างที่ดื่มแอลกอฮอล์ส่วนใหญ่อายุระหว่าง   20 - 30 ปี    คิดเป็นร้อยละ 47.67  อายุเฉลี่ย  33.98 ปี (SD = 10.91) เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่นิยมดื่มมากที่สุดคือ เบียร์ คิดเป็นร้อยละ 40.70  ความถี่ของการดื่มแอลกอฮอล์ส่วนใหญ่ดื่มนานๆ ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 28.33 และดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 1 ขวด  คิดเป็นร้อยละ 40.70  กลุ่มตัวอย่างเริ่มดื่มแอลกอฮอล์เมื่ออายุ 18 ปี   คิดเป็นร้อยละ 16.28 (= 17.77, SD = 3.38)  สาเหตุของการดื่มแอลกอฮอล์ครั้งแรก ส่วนใหญ่ดื่มแอลกอฮอล์เพราะอยากทดลองดื่ม  รองลงมาคือ เพื่อนชักชวน คิดเป็นร้อยละ 41.87 และ 33.62 ตามลำดับ บุคคลที่ดื่มแอลกอฮอล์ด้วยส่วนใหญ่คือ เพื่อน คิดเป็นร้อยละ 72.10 และดื่มแอลกอฮอล์เมื่อไปงานสังคม ดื่มในช่วงเทศกาล และเที่ยวกับเพื่อน คิดเป็นร้อยละ 38.37

          2. อายุ การรับรู้สมรรถนะแห่งตนในการปฏิเสธการดื่มแอลกอฮอล์ และความคาดหวังเชิงลบในผลลัพธ์ของการดื่มแอลกอฮอล์มีความสัมพันธ์ทางลบกับการดื่มแอลกอฮอล์ของประชากรเพศชายวัยผู้ใหญ่ กรุงเทพมหานครอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05  (r = -0.18, -0.54, และ -0.35 ตามลำดับ)

          3. ประวัติการมีบุคคลในครอบครัวดื่มแอลกอฮอล์  และความคาดหวังเชิงบวกในผลลัพธ์ของการดื่มแอลกอฮอล์มีความสัมพันธ์ทางบวกกับการดื่มแอลกอฮอล์ของประชากรเพศชายวัยผู้ใหญ่กรุงเทพมหานคร อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05  (r =  0.19 และ 0.37 ตามลำดับ)

Article Details

Section
Research articles