การสร้างตัวชี้วัดธรรมาภิบาลสำหรับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

Main Article Content

พลาพรรณ คำพรรณ์

Abstract

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครื่องมือสำหรับการสำรวจการมีและการใช้ธรรมาภิบาลสำหรับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยรวบรวมตัวชี้วัดที่ได้จากการทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับธรรมาภิบาลตามหลักธรรมาภิบาล 6 หลัก คือ หลักนิติธรรม หลักคุณธรรม หลักความโปร่งใส หลักการมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบ และหลักความคุ้มค่า จำนวน 137 ตัวชี้วัด นำมาสร้างเป็นแบบประเมินธรรมาภิบาล โดยทดลองใช้ข้อคำถามทั้ง 137 ตัวชี้วัด กับกลุ่มประชากรเป้าหมาย (ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก) ได้แก่  1) ลูกค้าหลัก  2) ประชาชน คู่ค้า และพันธมิตรขององค์กร  3) ภาคประชาสังคม เช่น กลุ่มหรือเครือข่ายองค์กรพัฒนาชุมชนที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน นักวิชาการ สื่อมวลชน และ 4) หน่วยงานภาครัฐและภาคการเมืองที่กำกับดูแลองค์กรหรือที่องค์กรติดต่อประสานงาน (จำนวน 220 ราย)  ผลที่ได้จากการวิเคราะห์องค์ประกอบ (Factor Analysis) ทำให้จำนวนตัวชี้วัดได้รับการจัดหมวดหมู่และมีจำนวนข้อคำถามที่เหมาะสม ผลการวิเคราะห์ปัจจัย (Factor Analysis) ทำให้สามารถตัดตัวชี้วัด (ข้อคำถาม) ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับธรรมาภิบาลให้ลดลง ผู้วิจัยจึงคัดเลือกเหลือตัวชี้วัดที่มีความสัมพันธ์ต่อกันสูงจำนวน 60 ตัว สร้างเป็นเครื่องมือในการสำรวจความเห็นจากประชากรเป้าหมาย ได้แก่  1) กลุ่มลูกค้าหลัก - คู่ค้า  2) ภาคราชการ - ภาคการเมือง  3) ภาคประชาสังคม  และ 4) ประชาชน ผลการนำตัวชี้วัดทั้ง 60 ตัว ไปใช้พบว่า ประชากรเป้าหมายทั้ง 4 กลุ่ม ประเมินการมีหรือการใช้ธรรมาภิบาลของ กฟผ. การให้คะแนนธรรมาภิบาลของกลุ่มต่างๆ มีความสอดคล้องกัน โดยเฉพาะด้านที่  ทุกกลุ่มให้คะแนนสูงที่สุดเหมือนกันหมด คือ  ด้านความรับผิดชอบ และด้านที่ทุกกลุ่มให้คะแนนน้อยเหมือนกันหมด คือ ด้านการมีส่วนร่วมและด้าน ความโปร่งใส  

Article Details

Section
Articles