การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนด้วย E-Learning สำหรับนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ในกระบวนวิชาการพยาบาลผู้สูงอายุ

Authors

  • วณิชา พึ่งชมภู คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • ศิริรัตน์ ปานอุทัย คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Keywords:

รูปแบบการเรียนการสอนด้วย E-Learning, ความพร้อมในการเรียนรู้โดยการชี้นำตนเอง, นักศึกษาพยาบาลศาสตร์, กระบวนวิชาการพยาบาลผู้สูงอายุ

Abstract

          คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้จัดให้มีการเรียนการสอนในกระบวนวิชาการพยาบาลผู้สูงอายุ (553311) ซึ่งเป็นกระบวนวิชาบังคับของนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 โดยการจัดการเรียนการสอนจะเน้นที่ผู้สอนเป็นผู้กำหนดเนื้อหามากกว่าการจัดการเรียนการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางทำให้ผู้เรียนขาดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องไม่สามารถนำความรู้มาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติการพยาบาลได้อย่างมีคุณภาพ จึงมีความจำเป็นในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนด้วย E-Learning เพื่อทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self-directed learning) โดยการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง การศึกษาในครั้งนี้มีวัตถุของการวิจัย 2 ระยะ ในระยะที่ 1 เป็นการศึกษาความต้องการและความพร้อมของผู้เรียนต่อเรียนการสอนด้วย E-Learning และพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนด้วย E-Learning สำหรับนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชั้นปีที่ 3 ที่ลงทะเบียนเรียนวิชาการพยาบาลผู้สูงอายุ (553311) จำนวน 113 ราย เก็บรวบรวมข้อมูลโดยให้กลุ่มตัวอย่างตอบแบบสอบถามได้แก่ แบบประเมินความต้องการของผู้เรียนต่อการพัฒนาการเรียนการสอนด้วย E-Learning และแบบประเมินความพร้อมในการเรียนรู้โดยการชี้นำตนเอง การศึกษาในระยะที่ 2 มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินประสิทธิผลของการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนด้วน E-Learning สำหรับนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 ในกระบวนวิชาการพยาบาลผู้สูงอายุ (553311) โดยสุ่มกลุ่มตัวอย่างเข้ากลุ่มทดลอง 68 ราย และกลุ่มควบคุม 71 ราย กลุ่มทดลองได้รับการเรียนการสอนด้วย E-Learning ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับการเรียนการสอนตามปกติ เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบประเมินความรู้ และความต้องการเรียนการสอนด้วย E-Learning แบบประเมินความพร้อมในการเรียนรู้โดยการชี้นำตนเอง และแบบประเมินความพึงพอใจของนักศึกษาต่อการจัดการเรียนการสอนด้วย E-Learning เปรียบเทียบระหว่างก่อนและหลังการทดลองใช้สถิติ Paired t-test และการเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมใช้สถิติ Independence t-test

          ผลการวิจัยพบว่า

          ในระยะที่ 1 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความต้องการให้นำ E-Learning มาใช้ในการเรียนการสอนในกระบวนวิชาการพยาบาลผู้สูงอายุ ในด้านของความพร้อมในการเรียนรู้ด้วยตนเองของนักศึกษาพยาบาลพบว่ากลุ่มตัวอย่างมีความพร้อมอยู่ในระดับปานกลาง

          ในระยะที่ 2 ผลสัมฤทธิ์ต่อการเรียนการสอนด้วย E-Learning สำหรับนักศึกษาพยาบาลภายหลังการทดลองพบว่ามีความ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ p< 0.001 ความต้องการการจัดการเรียนการสอนด้วย E-Learning สำหรับนักศึกษาพยาบาลในการเรียนกระบวนวิชาการพยาบาลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น รวมทั้งนักศึกษามีความพึงพอใจต่อการพัฒนาการเรียนการสอนด้วย E-Learningในระดับดี แม้ว่าความพร้อมในการเรียนรู้ด้วยการชี้นำตนเองของนักศึกษาพยาบาลระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมพบว่าไม่แตกต่างกันทั้งก่อนและหลังการทดลอง ดังนั้นการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนด้วย E-Learning สำหรับนักศึกษาพยาบาลจึงควรนำมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรพยาบาลศาสตร์กระบวนวิชาการพยาบาลผู้สูงอายุ

Downloads

Published

2014-11-30

How to Cite

พึ่งชมภู ว., & ปานอุทัย ศ. (2014). การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนด้วย E-Learning สำหรับนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ในกระบวนวิชาการพยาบาลผู้สูงอายุ. Nursing Journal CMU, 41(5), 11–25. Retrieved from https://he02.tci-thaijo.org/index.php/cmunursing/article/view/32688