การส่งเสริมการปฏิบัติของพยาบาลตามหลักฐานเชิงประจักษ์ในการจัดการสายสวนหลอดเลือดดำส่วนปลาย

Authors

  • วิลาวัณย์ พิเชียรเสถียร คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • ดารารัตน์ ดำรงกุลชาติ โรงพยาบาลหาดใหญ่
  • รัชนีย์ วงศ์แสน โรงพยาบาลนครพิงค์
  • ธนพร กาวีวน โรงพยาบาลนครพิงค์
  • อารีย์ กุณนะ โรงพยาบาลสูงเม่น
  • พัชรินทร์ เนตรสว่าง โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่

Keywords:

พยาบาล, หลักฐานเชิงประจักษ์, สายสวนหลอดเลือดดำส่วนปลาย

Abstract

          การสอดใส่สายสวนหลอดเลือดดำส่วนปลายอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนแก่ผู้ป่วยได้ อย่างไรก็ตามภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวสามารถป้องกันได้โดยปฏิบัติตามหลักฐานเชิงประจักษ์ การวิจัยแบบกึ่งทดลองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนากลยุทธ์ในการส่งเสริมการปฏิบัติของพยาบาลในการจัดการสวนหลอดเลือดดำส่วนปลายตามหลักฐานเชิงประจักษ์ โดยศึกษาใน 4 โรงพยาบาลระหว่างเดือนเมษายน 2554 ถึง เดือนมีนาคม 2555 กลุ่มตัวอย่างเป็นพยาบาลวิชาชีพจำนวน 94 คนและผู้ป่วยที่ได้รับการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำส่วนปลาย 1,808 คน ในระยะก่อนและหลังการส่งเสริมการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ แนวปฏิบัติตามหลักฐานเชิงประจักษ์ในการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำส่วนปลาย แบบบันทึกข้อมูลภาวะแทรกซ้อน แบบสอบถามข้อมูลทั่วไปและแบบบันทึกการสังเกตการปฏิบัติ ซึ่งผ่านการตรวจสอบความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหาจากผู้เชี่ยวชาญจำนวน 5 ท่าน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยผู้ช่วยวิจัยที่ได้รับการอบรมวิธีการเก็บข้อมูล การพัฒนากลยุทธ์การส่งเสริมการปฏิบัติตามหลักฐานเชิงประจักษ์ของพยาบาลใช้แนวคิดวงจรพีดีเอสเอ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา สถิติไคว์สแควร์และการลดลงของความเสี่ยง

          ผลการวิจัย พบว่า

          กลยุทธ์ที่ใช้ในการส่งเสริมการปฏิบัติตามหลักฐานเชิงประจักษ์ใช้หลายวิธีประกอบกันได้แก่ การให้ความรู้ การจัดทำคู่มือ การสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ การสร้างตัวแบบ การนิเทศติดตามการปฏิบัติการเตือน การใช้สติกเกอร์สีกำหนดวันเปลี่ยนชุดให้สารน้ำ การจัดระบบการเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนการให้ข้อมูลย้อนกลับ การให้รางวัลและการสร้างบรรยากาศและวัฒนธรรมองค์กรสนับสนุนการปฏิบัติตามหลักฐานเชิงประจักษ์ หลังได้รับการส่งเสริมพยาบาลกลุ่มตัวอย่างมีการปฏิบัติตามหลักฐานเชิงประจักษ์เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 78.6 เป็นร้อยละ 88.8 ซึ่งแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.001 โดยมีการปฏิบัติตามเพิ่มขึ้นในทุกหมวดกิจกรรม และมีผลทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อนลดลงจากร้อยละ 30.1 เป็น 11.7 ซึ่งแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.001 นั่นคือ มีความเสี่ยงลดลงร้อยละ 61

          ผลการวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่าการส่งเสริมการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์เป็นสิ่งสำคัญต่อการป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำส่วนปลาย ซึ่งควรส่งเสริมโดยใช้หลายวิธีประกอบกันและทำอย่างต่อเนื่องเพื่อให้พยาบาลมีการปฏิบัติตามหลักฐานเชิงประจักษ์อย่างยั่งยืนต่อไป

Downloads

Published

2014-11-30

How to Cite

พิเชียรเสถียร ว., ดำรงกุลชาติ ด., วงศ์แสน ร., กาวีวน ธ., กุณนะ อ., & เนตรสว่าง พ. (2014). การส่งเสริมการปฏิบัติของพยาบาลตามหลักฐานเชิงประจักษ์ในการจัดการสายสวนหลอดเลือดดำส่วนปลาย. Nursing Journal CMU, 41(5), 71–87. Retrieved from https://he02.tci-thaijo.org/index.php/cmunursing/article/view/32702