ประสบการณ์ของผู้เป็นบิดาครั้งแรกในระยะภรรยาคลอดบุตร

Authors

  • นันทพร แสนศิริพันธ์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • ฉวี เบาทรวง คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • อารีวรรณ กลั่นกลิ่น คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • กรรณิการ์ กันธะรักษา คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • เสาวนีย์ เหลี่ยมไตรรัตน์ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่

Keywords:

การเป็นบิดา, ประสบการณ์ของบิดา, ระยะคลอด

Abstract

          ระยะคลอดบุตรของภรรยา ผู้เป็นบิดาครั้งแรกต้องพบกับความท้าทาย ความกดดันต่างๆ และการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์เช่นเดียวกับผู้เป็นภรรยา วัตถุประสงค์ของการวิจัยเชิงทฤษฎีจากข้อมูลพื้นฐาน(grounded theory) ครั้งนี้ เพื่อเข้าใจในกระบวนการเป็นบิดาครั้งแรกของชายไทยในระยะภรรยาคลอดบุตร ผู้ให้ข้อมูลคือ ชายไทยที่มาส่งภรรยาคลอดบุตร ที่โรงพยาบาลสองแห่งในจังหวัดเชียงใหม่ ภาคเหนือของประเทศไทย ระหว่างเดือนธันวาคม 2555 ถึงมิถุนายน 2556 จำนวน 41 คน รวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก และวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้วิธีการวิจัยเชิงทฤษฏีจากข้อมูลพื้นฐาน

          ผลของการวิจัย พบว่า

       “การเดินทางสู่ชีวิตการเป็นบิดา” เป็นกระบวนการพื้นฐานทางสังคมซึ่งเป็นหมวดหมู่หลัก (core category) ของผลการวิจัย ภายใต้กระบวนการนี้มีสถานการณ์ ความกดดัน และความท้าทายต่างๆมากมาย ซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ และความรู้สึกของผู้เป็นบิดา ผู้เป็นบิดาไทยครั้งแรกได้พยายามจัดการกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นบิดาอย่างสมบูรณ์ในระยะภรรยาคลอดบุตร กระบวนการนี้แบ่งเป็น 2 ระยะคือ ระยะเจ็บครรภ์คลอด และระยะเบ่งคลอด สำหรับระยะเจ็บครรภ์คลอด เริ่มตั้งแต่ภรรยามีอาการนำเข้าสู่ระยะคลอด จนกระทั่งปากมดลูกเปิด 10 เซนติเมตร ผู้เป็นบิดาได้ใช้ 5 กลวิธี ได้แก่ การหาข้อมูลเพื่อยืนยันอาการเจ็บครรภ์คลอด การเตรียมตัวส่งภรรยาคลอด การทุ่มเทความสนใจไปที่ภรรยา การสนับสนุนช่วยเหลือและให้กำลังใจภรรยา และการรอคอยการคลอดด้วยความอดทน เพื่อเผชิญและจัดการกับสถานการณ์และอารมณ์ของตนที่เปลี่ยนแปลง ส่วนระยะที่ 2 คือ ระยะเบ่งคลอด เริ่มตั้งแต่ปากมดลูกเปิดครบ 10 เซนติเมตร จนกระทั่งทารกและรกคลอดออกมาครบ ในระยะนี้ความรู้สึกห่วงกังวลของผู้เป็นบิดาต่อภรรยาและบุตร ทวีความรุนแรงขึ้นสูงสุดในขณะภรรยาเบ่งคลอดและค่อยสงบลงเมื่อทารกคลอดออกมาครบ ผู้เป็นบิดาใช้ 4 กลวิธี คือ การทุ่มเทความสนใจไปที่กระบวนการคลอด การสนับสนุนให้กำลังใจภรรยาและช่วยเชียร์เบ่ง มุ่งความสนใจไปที่ทารกและสำรวจทารกแรกเกิด เพื่อจัดการกับอารมณ์และความรู้สึกห่วงกังวลของตนเอง

          ผลการวิจัยครั้งนี้ให้ความรู้ใหม่เพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้เป็นบิดาไทย ประกอบด้วยข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นห่วงกังวลและความต้องการของผู้เป็นบิดาไทยขณะที่ภรรยาอยู่ในระยะคลอด รวมทั้งกลวิธีที่ใช้จัดการกับสถานการณ์ ความเป็นห่วงกังวล และความต้องการของตนเอง ซึ่งความรู้ดังกล่าวเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับพยาบาล/ผดุงครรภ์เพื่อใช้ในการวางแผนให้การช่วยเหลือ สนับสนุนผู้เป็นบิดาในการปรับตัวต่อสิ่งที่ต้องเผชิญ และก้าวเข้าสู่การเป็นบิดาได้ประสบความสำเร็จ

Downloads

Published

2014-11-30

How to Cite

แสนศิริพันธ์ น., เบาทรวง ฉ., กลั่นกลิ่น อ., กันธะรักษา ก., & เหลี่ยมไตรรัตน์ เ. (2014). ประสบการณ์ของผู้เป็นบิดาครั้งแรกในระยะภรรยาคลอดบุตร. Nursing Journal CMU, 41(5), 143–157. Retrieved from https://he02.tci-thaijo.org/index.php/cmunursing/article/view/32717