ผลของโปรแกรมการส่งเสริมให้ญาติมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูสภาพต่อความสามารถในการกลืนและการรับประทานอาหารของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองระยะเฉียบพลัน

Authors

  • ลัดดา ศิลาเรียม คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • ธีรนุช ห้านิรัติศัย คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • สมบัติ มุ่งทวีพงษา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Keywords:

โปรแกรมการฟื้นฟูสภาพ, การส่งเสริมให้ญาติมีส่วนร่วม, ความสามารถในการกลืน, ความสามารถในการรับประทานอาหาร, ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองระยะเฉียบพลัน

Abstract

          โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยเกิดความผิดปกติทางร่างกายได้หลายรูปแบบอาการกลืนลำบากเป็นความผิดปกติหนึ่งที่สามารถพบได้บ่อยและทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงเปรียบเทียบวัดก่อนและหลังการทดลองที่มีกลุ่มควบคุม (historical control trial) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการส่งเสริมให้ญาติมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูสภาพต่อความสามารถในการกลืนและการรับประทานอาหารของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองระยะเฉียบพลัน ดำเนินการศึกษาที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในจังหวัดปทุมธานีและโรงพยาบาลทั่วไปแห่งหนึ่งของจังหวัดนนทบุรี ดำเนินการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด จำนวน 22 คน โดยเก็บรวบรวมข้อมูลในกลุ่มควบคุมเพื่อศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนการใช้โปรแกรม จำนวน 10 คน ก่อน หลังจากนั้นจึงเก็บรวบรวมข้อมูลในกลุ่มทดลอง จำนวน 12 คน การศึกษาครั้งนี้ประยุกต์ใช้กรอบแนวคิดการปรับฟื้นคืนสภาพตามแนวคิดของสไตรเกอร์และการมีส่วนร่วมของครอบครัวตามแนวคิดของเชปป์เป็นแนวทางในการจัดกิจกรรม เครื่องมือที่ใช้ประกอบด้วย แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วยและญาติ เครื่องมือประเมินความสามารถในการกลืนแบบประยุกต์ของแมนน์ (The Modified Mann Assessment of Swallowing Ability: MMASA) แบบประเมินความสามารถในการรับประทานอาหาร แบบสังเกตอาการสำลัก โปรแกรมการส่งเสริมให้ญาติมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูสภาพการกลืนและการรับประทานอาหาร คู่มือการฟื้นฟูสภาพการกลืนและการรับประทานอาหารสำหรับผู้ป่วยและแบบติดตามการมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยของญาติ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา สถิติทดสอบไฟด์แมน (Friedman test)และสถิติทดสอบแมนน์ วิทนี ยู (Mann-Whitney U test) การวิจัยครั้งนี้ได้ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และคณะกรรมการจริยธรรมของโรงพยาบาลพระนั่งเกล้าแล้ว สรุปผลงานวิจัยและข้อเสนอแนะการนำผลงานวิจัยไปใช้

          ผลการวิจัยพบว่า

          กลุ่มทดลองมีการเพิ่มขึ้นของค่าเฉลี่ยความสามารถในการกลืนและความสามารถในการรับประทานอาหารในวันที่ 7, 14 และ 30 จากก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) และคะแนนเฉลี่ยของอาการสำลักลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.000) อย่างไรก็ตาม กลุ่มควบคุมมีการเพิ่มขึ้นของค่าเฉลี่ยความสามารถในการกลืนและความสามารถในการรับประทานอาหารชนิดต่างๆ และคะแนนเฉลี่ยของอาการสำลักลดลงในวันที่ 7, 14 และ 30 จากก่อนได้รับการพยาบาลตามปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเช่นเดียวกัน ผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มไม่มีภาวะแทรกซ้อนจากอาการสำลัก ผลการวิจัยแสดงว่าโปรแกรมนี้เป็นวิธีการหนึ่งที่มีประสิทธิภาพที่พยาบาลสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากปอดอักเสบในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง

Downloads

Published

2014-11-30

How to Cite

ศิลาเรียม ล., ห้านิรัติศัย ธ., & มุ่งทวีพงษา ส. (2014). ผลของโปรแกรมการส่งเสริมให้ญาติมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูสภาพต่อความสามารถในการกลืนและการรับประทานอาหารของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองระยะเฉียบพลัน. Nursing Journal CMU, 41(5), 180–191. Retrieved from https://he02.tci-thaijo.org/index.php/cmunursing/article/view/32720