ผลของโปรแกรมการสนับสนุนทางสังคมต่อพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วย โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

ผู้แต่ง

  • แจ่มศรี เสมาเพชร
  • วิพร เสนารักษ์

บทคัดย่อ

การวิจัยกึ่งทดลอง (Quasi – experimental research)  นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการสนับสนุนทางสังคมต่อพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจ    ขาดเลือดเฉียบพลัน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยคือ ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันที่มารับการรักษาด้วยยาที่แผนกผู้ป่วยนอกศูนย์หัวใจสิริกิติ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในช่วงเดือน 1 เมษายน 2555 – 31 สิงหาคม 2555 จำนวน 50 ราย สุ่มตัวอย่างเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มเปรียบเทียบด้วยวิธีการสุ่มแบบง่ายกลุ่มละ 25 ราย โดยกลุ่มทดลองได้รับการพยาบาลตามปกติร่วมกับโปรแกรมการสนับสนุนทางสังคม ส่วนกลุ่มเปรียบเทียบได้รับการพยาบาลตามปกติเพียงอย่างเดียว

เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ประกอบด้วย เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง ได้แก่ โปรแกรมการสนับสนุนทางสังคมสำหรับผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ผ่านการตรวจสอบจากผู้ทรงคุณวุฒิได้ค่าความตรงตามเนื้อหาเท่ากับ 0.89 และเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบบันทึกข้อมูลทั่วไป แบบสอบถามพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ซึ่งมีค่าความเที่ยงเท่ากับ 0.82 ความตรงตามเนื้อหาเท่ากับ 0.89 ดำเนินการศึกษาโดยให้การพยาบาลผู้ป่วยกลุ่มทดลองตามโปรแกรมการสนับสนุนทางสังคมร่วมกับการให้การพยาบาลตามปกติ ส่วนกลุ่มเปรียบเทียบได้รับการพยาบาลตามปกติ ทั้งสองกลุ่มได้รับการประเมินพฤติกรรมการดูแลตนเองก่อนและหลังการศึกษาครบ 12 สัปดาห์ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ทดสอบความแตกต่างของข้อมูลทั่วไป ระหว่างกลุ่มเปรียบเทียบและกลุ่มทดลองด้วยสถิติไคสแควร์และสถิติทดสอบที ทดสอบความแตกต่างค่าเฉลี่ยคะแนนพฤติกรรมการดูแลตนเองก่อนและหลังการทดลองภายในกลุ่มด้วยสถิติ paired t-test และทดสอบความแตกต่างค่าเฉลี่ยคะแนนพฤติกรรมการดูแลตนเองก่อนและหลังการทดลองระหว่างกลุ่มเปรียบเทียบและกลุ่มทดลองด้วยสถิติ independent t-test

ผลการวิจัยสามารถสรุปได้ดังนี้

1.     ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันที่ได้รับโปรแกรมการสนับสนุนทางสังคมมีคะแนนพฤติกรรมการดูแลตนเอง สูงกว่าก่อนได้รับโปรแกรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ     (p <.05)

2.     ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันที่ได้รับโปรแกรมการสนับสนุนทางสังคมมีคะแนนพฤติกรรมการดูแลตนเอง สูงกว่ากลุ่มเปรียบเทียบที่ได้รับการพยาบาลตามปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p <.05)

จากผลการวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัย เสนอแนะว่า

1.     ควรมีการนำรูปแบบโปรแกรมการสนับสนุนทางสังคมที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นไปเป็นรูปแบบการสอนเพื่อเป็นแนวทางเดียวกันเพื่อสนับสนุนให้ผู้ป่วยและญาติที่มารับบริการครั้งแรกสามารถดูแลตนเองได้อย่างถูกต้องเกี่ยวกับการเจ็บป่วยด้วยโรคนี้หรือเมื่อเกิดเหตุการณ์เฉียบพลันที่คุกคามต่อชีวิต

2.     ควรมีการวิจัยต่อเนื่องถึงผลของโปรแกรมการสนับสนุนทางสังคมร่วมกับตัวแปรอื่นๆ เช่น การเกิดเหตุการณ์โรคหัวใจกำเริบ เช่น เจ็บหน้าอก เป็นลม หัวใจหยุดเต้น เป็นต้น

คำสำคัญ: โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน, การสนับสนุนทางสังคม, พฤติกรรมการดูแลตนเอง

Downloads