ความรู้ที่ทรงอำนาจของผู้ให้บริการด้านสุขภาพ: ทางเลือกและสิทธิของผู้ป่วยตามการรับรู้ของสตรีอีสานที่ป่วยด้วยมะเร็งเต้านม

ผู้แต่ง

  • เยาวลักษณ์ โพธิดารา

คำสำคัญ:

อำนาจทางความรู้ สิทธิ ทางเลือก มะเร็งเต้านม การดูแลสุขภาพ

บทคัดย่อ

การศึกษาเชิงคุณภาพแบบปรากฏการณ์วิทยานี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสบการณ์ของสตรีอีสานที่ป่วยด้วยมะเร็งเต้านมต่อการได้รับบริการด้านสุขภาพในเรื่องสิทธิและทางเลือกในการรักษาตามการรับรู้ของสตรีที่ป่วยด้วยมะเร็งเต้านม ผู้ให้ข้อมูลเป็นสตรีอีสานที่ป่วยด้วยมะเร็งเต้านม 18 ราย เก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก  วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์แก่นสาระ การศึกษาโดยการใช้ความรู้ที่ทรงอำนาจ (Authoritative Knowledge) เป็นกรอบแนวคิดทำให้มีข้อค้นพบ 4 ประเด็นคือ 1) สิทธิที่หายไป เป็นประสบการณ์เกี่ยวกับการไม่ได้รับการบอกกล่าวข้อมูลการรักษาจากบุคลากรสุขภาพตามสิทธิที่ควรจะได้รับ 2) ทางเลือกหรือจำต้องเลือก แสดงถึงการไม่ได้รับทางเลือกในการรักษาจากบุคลากรสุขภาพ 3) อำนาจทางความรู้สู่สิทธิที่หายไป เป็นประสบการณ์ต่ออำนาจทางความรู้ของผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่ส่งผลให้สตรีที่เป็นผู้ให้ข้อมูลเชื่อและปฏิบัติตามในสิ่งที่ผู้ให้บริการบอกกล่าวจนทำให้สิทธิ และ หรือทางเลือกในการได้รับการดูแลรักษานั้นหายไป และ 4) เสียงร้องเพื่อป้องสิทธิ เป็นเสียงสะท้อนจากสตรีผู้ให้ข้อมูลเพื่อเรียกร้องสิทธิและทางเลือกในการรักษาจากผู้ให้บริการด้านสุขภาพ ผลจากการศึกษาครั้งนี้ทำให้ทราบถึงประสบการณ์ตรงของสตรีอีสานที่ป่วยด้วยมะเร็งเต้านมเกี่ยวกับการได้รับบริการสุขภาพ ที่ถูกลิดรอนสิทธิและทางเลือกในการรักษา จากอำนาจทางความรู้ของผู้ให้บริการด้านสุขภาพ ข้อมูลเหล่านี้อาจมีประโยชน์ต่อการหารูปแบบที่เหมาะสมในการพิทักษ์สิทธิและการเสนอทางเลือกในการรักษาที่เหมาะสมตามบริบทของแต่ละสังคมวัฒนธรรม เพื่อพัฒนาคุณภาพการดูแลผู้ป่วยมะเร็งเต้านมต่อไป

Downloads