การพัฒนาคุณภาพการรับส่งเวรทางการพยาบาล ในหอผู้ป่วยหนัก ศัลยกรรมหัวใจและทรวงอก

ผู้แต่ง

  • Pimkasama Srichattanawat
  • Apiradee Nunsupawat
  • Petsunee Thungjaroenkul

คำสำคัญ:

การรับส่งเวรทางการพยาบาล, กระบวนการปรับปรุงคุณภาพอย่างต่อเนื่อง, อุบัติการณ์

บทคัดย่อ

การรับส่งเวรทางการพยาบาล เป็นกระบวนการส่งต่อข้อมูลการดูแลผู้ป่วยโดยพยาบาลวิชาชีพจากเวรหนึ่งสู่เวรถัดไป เพื่อการดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง การศึกษาเชิงพัฒนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพการรับส่งเวรทางการพยาบาล ในหอผู้ป่วยหนัก ศัลยกรรมหัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก ระหว่างเดือน สิงหาคม พ.ศ. 2560 ถึงเดือนมกราคม พ.ศ. 2561  โดยใช้กระบวนการปรับปรุงคุณภาพอย่างต่อเนื่อง 9 ขั้นตอน ได้แก่ ค้นหากระบวนการปรับปรุงคุณภาพ สร้างทีมงานที่รู้กระบวนการ  ทำความเข้าใจกระบวนการ ทำความเข้าใจสาเหตุของความแปรปรวนในกระบวนการ เลือกกระบวนการที่ต้องการปรับปรุง วางแผน ปรับปรุง นำแผนสู่การปฏิบัติ ตรวจสอบการปฏิบัติ และยืนยันการดำเนินการและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับการสื่อสารแบบ SBAR (Situation, Background, Assessment, Recommendation) ศึกษาในพยาบาลวิชาชีพผู้ปฏิบัติงาน 14 คน เครื่อง มือที่ใช้ใน การศึกษา ได้แก่ แบบสำรวจข้อมูลส่วนบุคคล แนวคำถามในการประชุมกลุ่ม แนวทางการรับส่งเวร แบบสังเกตการรับส่งเวรของทีม ผู้ปฏิบัติ และแบบบันทึกอุบัติการณ์ วิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลด้วยความถี่และค่าร้อยละ วิเคราะห์เนื้อหาจากข้อมูลเชิงคุณภาพ ผล การศึกษาพบว่าหลังใช้กระบวนการปรับปรุงคุณภาพ พยาบาลวิชาชีพ สามารถปฏิบัติตามแนวทางการรับส่งเวรทางการพยาบาลได้ ครบถ้วนและถูกต้องมากกว่าร้อยละ 80 ไม่พบอุบัติการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากการรับส่งเวร พยาบาลพึงพอใจระดับมากร้อยละ  64.3 ส่วนข้อเสนอแนะ เพื่อพัฒนาคุณภาพการรับส่งเวร ได้แก่ ควรใช้แนวทางการรับส่งเวรร่วมกับการสื่อสารแบบ SBAR อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากความไม่คุ้นเคยกับแบบฟอร์มการรับส่งเวร สรุปคือแนวทางการรับส่งเวรที่พัฒนาขึ้น ช่วยให้การรับส่งเวรมี ประสิทธิผล เกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อผู้ป่วย ดังนั้นผู้บริหารทางการพยาบาลควรนำแนวทางดังกล่าวไปปรับปรุงคุณภาพ การรับส่งเวรในหน่วยงานอื่นต่อไป

Author Biographies

Pimkasama Srichattanawat

หอผู้ป่วยหนักศัลยกรรมหัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก 65000

Apiradee Nunsupawat

คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50200

Petsunee Thungjaroenkul

คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50200

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-06-18