ปัจจัยทำนายคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ได้รับการล้างไตทางช่องท้องด้วยตนเองแบบต่อเนื่อง

Main Article Content

อุทุมพร ขำคม
นันทิยา วัฒายุ
ดวงใจ รัตนธัญญา

Abstract

วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาคุณภาพชีวิต ความสัมพันธ์ และปัจจัยทำนายคุณภาพชีวิตผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ได้รับการล้างไตทางช่องท้องด้วยตนเองแบบต่อเนื่อง จากปัจจัยเฉพาะบุคคล ปัจจัยด้านการทำหน้าที่ทางชีวภาพ และปัจจัยด้านภาวะสุขภาพ กับคุณภาพชีวิตผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ได้รับการล้างไตทางช่องท้องด้วยตนเองแบบต่อเนื่อง

รูปแบบการวิจัย: การศึกษาแบบบรรยายเชิงทำนาย                                              

วิธีดำเนินการวิจัย: กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ได้รับการล้างไตทางช่องท้องด้วยตนเองแบบต่อเนื่องที่มารับบริการคลินิกโรคไต จำนวน 78 ราย ในโรงพยาบาลชุมชน จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 8 แห่ง เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามปัจจัยเฉพาะบุคคล ปัจจัยด้านการทำหน้าที่ทางชีวภาพ และปัจจัยด้านภาวะสุขภาพ และแบบสอบถามคุณภาพชีวิตผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง มีค่าสัมประสิทธิ์อัลฟ่าของครอนบาคเท่ากับ .96 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน และสถิติถดถอยเชิงพหุ                  

ผลการวิจัย:1) คุณภาพชีวิตผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ได้รับการล้างไตทางช่องท้อง พบว่า มีระดับคุณภาพชีวิตอยู่ในระดับปานกลาง 2) อายุ มีความสัมพันธ์ทางลบกับคุณภาพชีวิตผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ได้รับการล้างไตทางช่องท้องด้วยตนเองแบบต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = -.461, p < .01) อาชีพ ค่าอัตราการกรองของไต ค่าฮีมาโตคริต และค่าอัลบูมินในเลือดมีความสัมพันธ์ทางบวกกับคุณภาพชีวิตผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ได้รับการล้างไตทางช่องท้องด้วยตนเองแบบต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = .379, r = .732, r = .601,  และ r = .662, ตามลำดับ p< .01)3) ปัจจัยทำนายคุณภาพชีวิตผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ได้รับการล้างไตทางช่องท้องด้วยตนเองแบบต่อเนื่อง  พบว่า มีตัวแปร  3 ตัว ได้แก่  อายุ (β=-.420) ค่าอัตราการกรองของไต (β=.387)  และค่าฮีมาโตคริต (β= .225) ที่ร่วมกันทำนายความผันแปรของคุณภาพชีวิตได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .001)  ร้อยละ 70.2 (R2 =.702)

สรุป: บุคลากรทางสุขภาพ รวมทั้งพยาบาลเวชปฏิบัติสามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการกำหนดแผนการส่งเสริมล่วงหน้าและสนับสนุนให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ได้รับการล้างไตทางช่องท้องด้วยตนเองแบบต่อเนื่องให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

Article Details

Section
Research articles