ผลของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนต่อการรับรู้ความสามารถในการตรวจเต้านม ด้วยตนเองของสตรีกลุ่มเสี่ยงสูงต่อการเป็นก้อนที่เต้านม

Main Article Content

นวลลออ ทวิชศรี
สุรีพร ธนศิลป์

Abstract

การศึกษานี้เป็นการวิจัยแบบกึ่งทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่อง มะเร็งเต้านมและการตรวจเต้านมด้วยตนเองต่อการรับรู้ความสามารถในการตรวจเต้านมด้วยตนเองของสตรีกลุ่มเสี่ยงสูงต่อการเป็นก้อนที่เต้านม ประยุกต์ใช้รูปแบบการส่งเสริมสุขภาพของเพนเดอร์และแนวคิดการเรียนรู้ของกาเย่ กลุ่มตัวอย่าง คือ สตรีกลุ่มเสี่ยงสูงต่อการเป็นก้อนที่เต้านม อายุ 20-59 ปี เป็นญาติสายตรงเป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านม หรือเคยตรวจพบสิ่งผิดปกติที่เต้านม หรือเคยเป็นมะเร็งเต้านม และรับการรักษาที่ห้องตรวจโรคศัลยกรรม โรงพยาบาลตำรวจ มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด จำนวน 60 ราย จับคู่ให้มีความคล้ายคลึงกันในเรื่องอายุและระดับการศึกษา แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 20 คน  กลุ่มควบคุมได้รับการให้ความรู้ตามปกติโดยพยาบาล กลุ่มทดลอง 1 ใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน กลุ่มทดลอง 2 ได้รับการให้ความรู้โดยพยาบาลร่วมกับใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน มีการทดสอบก่อนและหลังการทดลอง รวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบสอบถามการรับรู้ความสามารถในการตรวจเต้านมด้วยตนเอง และแบบทดสอบความรู้เกี่ยวกับการตรวจเต้านมด้วยตนเอง ซึ่งผ่านการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ และตรวจสอบความเที่ยงได้ค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาค เท่ากับ 0.89 และ 0.87 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงบรรยาย สถิติทดสอบที วิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว และทดสอบความแตกต่างรายคู่ด้วยวิธีทดสอบของบอนเฟอโรนี่

ผลการศึกษาพบว่า

1. ค่าเฉลี่ยการรับรู้ความสามารถในการตรวจเต้านมด้วยตนเองของสตรีกลุ่มเสี่ยงสูงต่อการเป็นก้อนที่เต้านม ภายหลังใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนสูงกว่าก่อนใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

2. ค่าเฉลี่ยการรับรู้ความสามารถในการตรวจเต้านมด้วยตนเองของสตรีกลุ่มเสี่ยงสูงต่อการเป็นก้อนที่เต้านม ภายหลังการใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ระหว่างกลุ่มที่ใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน กลุ่มที่ได้รับการให้ความรู้โดยพยาบาลร่วมกับใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน และกลุ่มที่ได้รับการให้ความรู้ตามปกติโดยพยาบาล ไม่แตกต่างกัน

ข้อเสนอแนะ

              ควรวัดผลภายหลังการทดลองซ้ำและเพิ่มระยะเวลาการศึกษาให้นานขึ้น เพื่อติดตามความยั่งยืนของพฤติกรรมย่างน้อย 3 เดือน และหน่วยงานที่ให้บริการส่งเสริมสุขภาพสามารถนำบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนลักษณะนี้ไปประยุกต์เป็นสื่อการสอนให้เกิดการเรียนรู้ในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพกับสตรีกลุ่มอื่นๆ ต่อไป 

Article Details

Section
Research articles