การพัฒนารูปแบบการป้องกันการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 สำหรับกลุ่มเสี่ยงเบาหวานในชุมชน จังหวัดเชียงราย

Main Article Content

ขนิษฐา พิศฉลาด
ฉันทนา แรงสิงห์
เกศมณี มูลปานันท์

Abstract

วัตถุประสงค์: เพื่อพัฒนารูปแบบการป้องกันการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 สำหรับกลุ่มเสี่ยงก่อนเบาหวานในชุมชน จังหวัดเชียงราย และเพื่อเปรียบเทียบพฤติกรรมการจัดการตนเอง ดัชนีมวลกาย ระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร ของกลุ่มเสี่ยงเบาหวาน ระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม

รูปแบบการวิจัย: การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (participatory action research)  และการวิจัยแบบกึ่งทดลองแบบ pretest-posttest control group design

วิธีดำเนินการวิจัย: การศึกษาแบ่งออกเป็น  2 ระยะ ระยะที่ 1 การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์การดูแลกลุ่มเสี่ยงเบาหวานในชุมชน ผู้ร่วมวิจัย ประกอบด้วย กลุ่มเสี่ยงเบาหวาน 30 คน  กลุ่มบุคลากรทางด้านสุขภาพ 10 คน  และกลุ่มตัวแทนจากชุมชน 10  คน เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการสนทนากลุ่ม และการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก เพื่อพัฒนาเป็นรูปแบบการป้องกันการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ระยะที่ 2 เป็นการศึกษาผลของรูปแบบการป้องกันการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ต่อพฤติกรรมการจัดการตนเองและดัชนีมวลกาย ในกลุ่มเสี่ยงเบาหวาน จำนวน 60 คน แบ่งเป็นกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง กลุ่มละ 30 คน โดยกลุ่มทดลองได้รับการดูแลตามรูปแบบการป้องกันการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในกลุ่มเสี่ยงเบาหวาน และกลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามมาตรฐาน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาและสถิติที

ผลการวิจัย: รูปแบบการป้องกันการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ประกอบด้วย 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1) กิจกรรมการคัดกรองค้นหากลุ่มเสี่ยงเบาหวานและกิจกรรมให้ความรู้ 2) กิจกรรมการจัดการตนเอง และ 3) กิจกรรมการเยี่ยมบ้าน ซึ่งภายหลังได้รับรูปแบบการป้องกันการเกิดโรคเบาหวาน กลุ่มทดลองมีคะแนนพฤติกรรมการจัดการตนเองดีขึ้นกว่าก่อนการทดลองและดีกว่ากลุ่มควบคุม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 มีดัชนีมวลกายน้อยกว่าก่อนการทดลองและน้อยกว่ากลุ่มควบคุม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และมีระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารต่ำกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 แต่ไม่แตกต่างจากควบคุม

สรุป: ผลการวิจัยสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการจัดบริการเพื่อป้องกันการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 สำหรับกลุ่มเสี่ยงเบาหวานในชุมชน โดยการมีส่วนร่วมของครอบครัว สถานบริการสุขภาพ และชุมชน

Article Details

Section
Research articles