รูปแบบการส่งเสริมความฉลาดทางอารมณ์ของเด็กก่อนวัยเรียนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จังหวัดเชียงราย

Main Article Content

เกศมณี มูลปานันท์
ขนิษฐา พิศฉลาด
วรรณา จำปาทิพย์

Abstract

การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างรูปแบบการส่งเสริมความฉลาดทางอารมณ์ของเด็กก่อนวัยเรียนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ในจังหวัดเชียงราย กลุ่มตัวอย่างที่เข้าร่วมการศึกษาครั้งนี้ ได้แก 1) บิดามารดา หรือผู้ดูแลเด็กก่อนวัยเรียน จำนวน 20 คน 2) ครูหรือหรือผู้ดูแลประจำศูนย์เด็กเล็ก จำนวน 10 คน  3) บุคลากรสุขภาพที่ทำหน้าที่ดูแลเด็กก่อนวัยเรียนในศูนย์เด็กเล็กที่ปฏิบัติงานในสถานบริการสุขภาพชุมชน จำนวน 5 คน   และ 4) กลุ่มผู้นำชุมชน ตัวแทนองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ข้าวต้ม จำนวน 5 คน เก็บรวมรวมข้อมูลโดยการสนทนากลุ่ม การสัมภาษณ์เชิงลึก และการวิเคราะห์เนื้อหา  ผลการวิจัย พบว่า รูปแบบการส่งเสริมความฉลาดทางอารมณ์ของเด็กก่อนวัยเรียนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ประกอบด้วย 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ระยะเตรียมความพร้อมก่อนเข้ารับการดูแลในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยการปฐมนิเทศ และให้ความรู้เกี่ยวกับแนวคิด  การส่งเสริมความฉลาดทางอารมณ์ แก่บิดามารดา ผู้ดูแล และเตรียมความพร้อมเด็ก โดยให้เด็กมาร่วมกิจกรรมกับเด็กในศูนย์ วันละ 2-3 ชั่วโมง เพื่อให้เด็กมีความคุ้นเคย และปรับตัวเข้ากับเด็กคนอื่น ระยะที่ 2 ระยะเข้าอยู่ในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน โดยเด็กจะเข้ารับการดูแลในศูนย์เต็มเวลา และได้รับการส่งเสริมความฉลาดทางอารมณ์ จากการทำกิจกรรมประจำวัน การเล่น การเล่านิทาน และติดตามผลการดำเนินการผ่านการพูดคุย และสื่อสารผ่านคู่มือ และระยะที่ 3  ระยะประเมินผลการส่งเสริมความฉลาดทางอารมณ์เด็กก่อนวัยเรียนโดยใช้แบบประเมินความฉลาดทางอารมณ์สำหรับเด็กอายุ 3-6 ปี ของกรมสุขภาพจิต กรณีที่ประเมินและพบความผิดปกติ จะส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และติดตามผลการดำเนินงานร่วมกับการเยี่ยมบ้าน  ทั้งนี้รูปแบบที่สร้างขึ้นสามารถนำไปใช้ส่งเสริมความฉลาดทางอารมณ์ให้แก่เด็กก่อนวัยเรียน และเสริมสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างหน่วยให้บริการสุขภาพและชุมชน  

Article Details

Section
Research articles