ผลของโปรแกรมการสร้างเสริมสุขภาพครอบครัวต่อพฤติกรรมการบริโภคอาหารในผู้สูงอายุภาวะน้ำหนักเกิน

Main Article Content

เรียม นมรักษ์

Abstract

วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการสร้างเสริมสุขภาพครอบครัวต่อพฤติกรรมการบริโภคอาหารในผู้สูงอายุภาวะน้ำหนักเกิน

แบบแผนงานวิจัย: การวิจัยกึ่งทดลอง

วิธีดำเนินการวิจัย: กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่มีภาวะน้ำหนักเกินโดยมีดัชนีมวลกายตั้งแต่ 25.0 ถึง 29.9 kg/m2และบุคคลในครอบครัวที่มีความผูกพันใกล้ชิด มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด แบ่งเป็นกลุ่มควบคุม 30 ราย และกลุ่มทดลอง 30 ราย กลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติ กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการสร้างเสริมสุขภาพครอบครัว ที่ประยุกต์จากทฤษฎีการพยาบาลตามรูปแบบความเชื่อความเจ็บป่วยของไรด์และเบล ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน คือ 1) การสร้างสัมพันธภาพ 2) การค้นหาความจริงเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพครอบครัว 3) การปรับเปลี่ยนความเชื่อที่เป็นอุปสรรคและการส่งเสริมความเชื่อที่เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาพครอบครัว 4) การสร้างความรู้สึกมั่นใจในการสร้างเสริมสุขภาพครอบครัว และ 5) การสะท้อนคิดและสรุป เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบสอบถามพฤติกรรมการบริโภคอาหารในผู้สูงอายุภาวะน้ำหนักเกิน มีค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาคเท่ากับ .78 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา และสถิติทดสอบค่าที

ผลการวิจัย: ค่าเฉลี่ยคะแนนพฤติกรรมการบริโภคอาหารของผู้สูงอายุภาวะน้ำหนักเกินภายหลังได้รับโปรแกรมการสร้างเสริมสุขภาพครอบครัว สูงกว่าก่อนเข้าร่วมโปรแกรมฯ และสูงกว่ากลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05         

สรุป: ผลการศึกษาครั้งนี้ สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการดูแลครอบครัวผู้สูงอายุภาวะน้ำหนักเกินเพื่อเพิ่มความสามารถในการดูแลผู้สูงอายุด้านการบริโภคอาหารให้ได้อย่างเหมาะสม

Article Details

Section
Research articles