ปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการป้องกันสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเข้าสู่ร่างกาย ของเกษตรกรปลูกข้าว ตำบลไกรกลาง อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย

ผู้แต่ง

  • ศิริวรรณ แก้วสุขเรือง หลักสูตรสาธารณสุขศาสตรมหาบัณทิต มหาวิทยาลัยนเรศวร
  • สรัญญา ถี่ป้อม หลักสูตรสาธารณสุขศาสตรมหาบัณทิต มหาวิทยาลัยนเรศวร

คำสำคัญ:

เกษตรกร, พฤติกรรมการป้องกันสารเคมีกำจัดศัตรูพืช, สารเคมีกำจัดศัตรูพืช

บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาความสัมพันธ์เชิงทำนาย (predictive correlation study) เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการป้องกันสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเข้าสู่ร่างกายของเกษตรกรปลูกข้าว ตำบลไกรกลาง อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย กลุ่มตัวอย่างคือ เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรปลูกข้าวในตำบลไกรกลาง ในปี 2559 จำนวน 180 คน สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีการสุ่มแบบแบ่งชั้น (stratified sampling)  เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามที่กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ตอบด้วยตนเองและมีค่าความเชื่อมั่นสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาค ระหว่าง 0.72 - 0.83 ระยะเวลาในการดำเนินการ พ.ศ. 2559 – 2560 วิเคราะห์ข้อมูลโดยการใช้ค่าจำนวน ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าสูงสุด ค่าต่ำสุด และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบอีต้า และสถิติถดถอยเชิงพหุคูณแบบขั้นตอน ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีพฤติกรรมการป้องกันสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเข้าสู่ร่างกายอยู่ในระดับสูง และพบปัจจัยจำนวน 4 ปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการป้อกันสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเข้าสู่ร่างกายของเกษตรกรปลูกข้าว ได้แก่ (1) ทักษะการจัดการตนเอง (2) การรับรู้ถึงความรุนแรงของการสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (3) ทักษะการตัดสินใจ และ (4) ระยะเวลาที่ทำการเกษตร และทำนายพฤติกรรมการป้องกันสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเข้าสู่ร่างกายของเกษตรกรปลูกข้าวได้ร้อยละ 37.4 ผลที่ได้จากการหาความสัมพันธ์ นำไปจัดโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และผลที่ได้จากการทำนาย ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาระบบเฝ้าระวังการสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืชของเกษตรกรต่อไป

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-08-13