พฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ ของสตรีวัยแรงงานภาคเกษตรกรรม

ผู้แต่ง

  • เพียงพิมพ์ ปัณระสี หลักสูตรสาธารณสุขศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยนเรศวร
  • ณรงค์ศักดิ์ หนูสอน คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

คำสำคัญ:

การดื่มแอลกอฮอล์, ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการดื่มแอลกอฮอล์, สตรีวัยแรงงานภาคเกษตรกรรม

บทคัดย่อ

การวิจัยเชิงคุณภาพแบบปรากฏการณ์วิทยาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาพฤติกรรมและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ของสตรีวัยแรงงานภาคเกษตรกรรม เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึกร่วมกับการสังเกตการณ์ ด้วยตัวผู้วิจัยเองซึ่งมีประสบการณ์การทำงานด้านการดูแลผู้มีปัญหาแอลกอฮอล์มากกว่า 24 ปี และผ่านการศึกษาการวิจัยเชิงคุณภาพ  กลุ่มผู้ให้ข้อมูลหลักมี 3 กลุ่มคือ (1) สตรีที่มีพฤติกรรมดื่มแอลกอฮอล์จำนวน 14 คน (2) บุคคลในครอบครัวหรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านจำนวน 7 คน และ(3) เจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพในโรงพยาบาลชุมชนจำนวน 7 คน  ในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี วิเคราะห์ข้อมูลเชิงประเด็น ตรวจสอบคุณภาพข้อมูลแบบสามเส้า ผลการวิจัยพบว่าการดื่มแอลกอฮอล์ของสตรีวัยแรงงานภาคเกษตรกรรมมีพฤติกรรม 2 ลักษณะ คือ ดื่มเป็นครั้งคราว และการดื่มเป็นประจำ ซึ่งการดื่มแบบประจำสามารถจำแนกได้จากปริมาณแอลกอฮอล์ที่ได้รับเป็น 3 ระดับ คือ (1) ดื่มเล็กน้อย 2) ดื่มปานกลาง และ (3) ดื่มหนัก)  ส่วนปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการดื่มมี 3 ด้านคือ (1)  ปัจจัยภายในตนเอง ที่สำคัญคือความรู้และความเชื่อที่ว่าการดื่มช่วยให้คลายปวดเมื่อยและความตึงเครียดจากการทำงาน  (2) ปัจจัยแวดล้อม เช่น การมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานเลี้ยง เทศกาลงานประเพณี และการมีแหล่งจำหน่ายใกล้ที่อยู่อาศัย ทำให้เข้าถึงการดื่มได้ง่าย  และ (3) ปัจจัยสนับสนุนหรือปัจจัยเอื้อ ที่สำคัญคือการได้รับค่าจ้างแรงงานเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่เรียกว่า “การเลี้ยงแขก” และ“การไหว้เจ้าที่” ภายหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อกันมา ดังนั้นจากผลการวิจัยจึงมีข้อเสนอแนะว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันโรคและลดผลกระทบอันเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานบริการด้านสาธารณสุข และเครือข่ายการดูแลสุขภาพ ควรที่จะมีการสำรวจและประเมินพฤติกรรมการดื่มด้วยแบบประเมินปัญหาการดื่มสุรา (AUDIT) เพื่อให้การดูแลช่วยเหลือ ส่งเสริม สนับสนุนให้สตรีที่มีพฤติกรรมดื่มแอลกอฮอล์ในระดับที่เกินมาตรฐานสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดหรือ เลิกดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อป้องกันหรือลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการดื่มแบบเสี่ยงสูงหรืออันตราย

 

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-12-25