ปัจจัยที่มีผลต่อผลการดำเนินงานของสหภาพแรงงาน

ผู้แต่ง

  • กล้าณรงค์ สุทธิรอด นักศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย

คำสำคัญ:

สหภาพแรงงาน, ปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินงาน, แรงงานสัมพันธ์

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาระดับผลการดำเนินงานของสหภาพแรงงาน (2) ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินงานของสหภาพแรงงาน และ (3) เปรียบเทียบผลการดำเนินงานของสหภาพแรงงานจำแนกตาม เพศ  อายุ  การศึกษา รายได้ ประเภทกิจการ จำนวนพนักงาน ระยะเวลาการดำเนินงาน จำนวนสมาชิก และระยะเวลาการเป็นสมาชิก  เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล คือ แบบสอบถาม กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 302 สหภาพ  สุ่มจากสหภาพแรงงานในประเทศไทย 1,229 สหภาพ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ได้แก่ (1) การหาค่าความถี่ ใช้สถิติ t-test , F-testและ Simple Regression Analysis เพื่อทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรอิสระกับตัวแปรตาม

ผลการวิจัยพบว่า (1)  กลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในระดับปฏิบัติการ เป็นเพศชาย (76.0%) มากกว่าเพศหญิง (24.0%) มีอายุระหว่าง 25-40 ปี กว่าร้อยละ 86  มีการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ รายได้ไม่เกิน 15,000 บาท กว่าร้อยละ 87 ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ทำงานในสถานประกอบการประเภทอุตสาหกรรมยานยนต์มากที่สุด  (2) กลุ่มตัวอย่าง สมาชิกสหภาพแรงงานมีความคิดเห็นว่า ปัจจัยที่มีผลต่อผลการดำเนินงานของสหภาพแรงงานในระดับมากได้แก่ ผู้นำสหภาพแรงงาน สมาชิกสหภาพแรงงาน ส่วนปัจจัยที่มีผลต่อผลการดำเนินงานของสหภาพแรงงานในระดับน้อย ได้แก่ การเงิน ลักษณะการดำเนินงาน รัฐบาล กฎหมาย และปัจจัยที่มีผลต่อผลการดำเนินงานของสหภาพแรงงานในระดับน้อยที่สุด ได้แก่ นายจ้าง (3) กลุ่มตัวอย่างสมาชิกสหภาพแรงงานมีความพึงพอใจผลการดำเนินงานของสหภาพแรงงานในระดับระดับมาก คิดเป็นร้อยละ 81.0 และเมื่อพิจารณาองค์ประกอบทั้ง 2 ด้านพบว่า ด้านแสวงหาและคุ้มครองสิทธิ สมาชิกสหภาพแรงงาน มีความพึงพอใจในระดับมากที่สุด และด้านแรงงานสัมพันธ์  สมาชิกสหภาพแรงงานมีความพึงพอใจในระดับน้อย  

ผลการทดสอบสมมติฐานพบว่า  ปัจจัยภายใน ได้แก่  จำนวนสมาชิก  ระยะเวลาในการดำเนินงาน  ผู้นำสหภาพแรงงาน สมาชิกสหภาพแรงงาน การเงิน และลักษณะการดำเนินงาน ปัจจัยภายนอกได้แก่ รัฐบาล  กฎหมาย นายจ้างส่งผลต่อผลการดำเนินงานของสหภาพแรงงานอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้

ข้อสังเกตของงานวิจัยนี้ พบว่า กลุ่มตัวอย่างสมาชิกสหภาพแรงงานมีความคิดเห็นว่าปัจจัยภายใน ได้แก่ ปัจจัยด้านการเงินส่งผลต่อผลการดำเนินงานของสหภาพแรงงานระดับน้อย และจากการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณ กลับพบว่า ปัจจัยด้านการเงินส่งผลต่อการดำเนินงานของสหภาพแรงงานมากที่สุด และกลุ่มตัวอย่างสมาชิกสหภาพแรงงานมีความคิดเห็นว่าปัจจัยภายนอก ได้แก่ ปัจจัยด้านนายจ้างส่งผลต่อผลการดำเนินงานของสหภาพแรงงานระดับน้อยที่สุด และจากการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณกลับพบว่า นายจ้างส่งผลต่อผลการดำเนินงานของสหภาพแรงงานมากที่สุด 

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2015-08-26

ฉบับ

บท

บทความวิจัย