ปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในอำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก

ผู้แต่ง

  • Aphilak Saengai Master of Public Health Program, Naresuan University
  • Pattama Suphunnakul Faculty of Public Health, Naresuan University

คำสำคัญ:

ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2, การเกิดภาวะแทรกซ้อน, แรงสนับสนุนทางสังคม

บทคัดย่อ

การวิจัยเชิงพยากรณ์นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน ของผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 อายุ 35 ปีขึ้นไป จำนวน 330 คน สุ่มตัวอย่างแบบเชิงระบบ เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยแบบสอบถามที่มีค่าความเชื่อมั่น 0.84 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนาและทดสอบสมมติฐานการวิจัยด้วยสถิติการวิเคราะห์การถดถอยแบบไบนารีโลจิสติกที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05 ผลการวิจัย พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 53.5 มีความรู้อยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 63.6 ได้รับแรงสนับสนุนทางสังคมในระดับปานกลาง และร้อยละ 74.8 มีพฤติกรรมการดูแลตนเองอยู่ในระดับปานกลาง สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มีจำนวน 3 ปัจจัย ปัจจัยที่เสี่ยงสูงที่สุด ได้แก่ (1) ผู้ป่วยที่มีระยะเวลาเป็นโรคเบาหวาน 20 - 30 ปี เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนมากกว่าผู้ป่วยที่มีระยะเวลาเป็นโรคเบาหวาน 5 – 10 ปี 5.887 เท่า (OR = 5.887, P-value = 0.007) (2) ผู้ป่วยที่มีระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่า 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนมากกว่า ผู้ป่วยที่มีระดับน้ำตาลในเลือด 100-125 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร 5.356 เท่า (OR = 5.356, P-value = 0.001) (3) ผู้ป่วยที่มีความรู้อยู่ในระดับต่ำ เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน มากกว่าผู้ป่วยที่มีความรู้อยู่ในระดับสูง 0.037 เท่า (OR = 0.037, P-value = <0.001) ตามลำดับ โดยปัจจัย ทั้ง 3 ตัว ร่วมพยากรณ์โอกาสเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ร้อยละ 37.1 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05

 

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-12-20