ภาวะผู้นำการสร้างองค์ความรู้ของผู้บริหารและครูในศตวรรษที่ 21 KNOWLEDGE CREATING LEADERSHIP AMONG THE PRINCIPALS AND THE TEACHERS IN THE 21st CENTURY

Main Article Content

Dawruwan Thawinkarn

บทคัดย่อ

ภาวะผู้นำการสร้างองค์ความรู้เป็นการแสดงออกของผู้นำที่มีอิทธิพลในการสร้างความสัมพันธ์โดยการแลกเปลี่ยน การพึ่งพาอาศัยกันของสมาชิกทุกคนในองค์การและชุมชนเพื่อเสริมพลังไปสู่ความต้องการ ความปรารถนาตามความเชื่อ ความคาดหวังในการเรียนรู้ให้บรรลุตามวิสัยทัศน์ร่วมที่ตั้งไว้  โดยอาศัยกระบวนการเกี่ยวกับการมีวิสัยทัศน์ร่วม  การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การสร้างความหมายและองค์ความรู้ การสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ และการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ โดยทั่วไปภาวะผู้นำการสร้างองค์ความรู้ เป็นรูปแบบของการเรียนรู้ที่มีองค์ประกอบสี่ส่วน ได้แก่ 1) จุดมุ่งหมาย (Purpose) คือการมีวิสัยทัศน์ร่วม มีความเชื่อ เป้าประสงค์เกี่ยวกับระบบโรงเรียนและการศึกษา รวมทั้งการเรียนรู้ของนักเรียนต้องมีความสอดคล้อง มีความเชื่อ ค่านิยม ความคาดหวังร่วมกัน ไปในทิศทางและจุดมุ่งหมายเดียวกัน 2) การแลกเปลี่ยนและการตอบแทนซึ่งกันและกัน (Reciprocal) คือการลงทุนและตอบสนองต่อการเรียนรู้ของผู้อื่น ในขณะที่คาดหวังว่าคนอื่นจะตอบสนอง มีความรับผิดชอบต่อการเรียนรู้ คล้ายกับตัวเราเอง ดังนั้นจึงต้องมีการตอบแทนและการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรแก่การลงทุนเพื่อการเรียนรู้ต่อไป  3) การเรียนรู้ (Learning) เป็นการสร้างความหมายและองค์ความรู้ร่วมกันผ่านการสนทนาเชิงสร้างสรรค์ หรือสุนทรียสนทนา (Dialogue) การพูดคุย การสะท้อนผล การแสวงหาคำตอบโดยการตั้งคำถามและจากการปฏิบัติ 4) ชุมชน (Community) เป็นกลุ่มคนที่มีเป้าหมายร่วมกัน มีแรงบันดาลใจสำหรับอนาคต และให้ความสำคัญต่อกัน ชุมชนจึงเป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญในการทำให้เกิดการเรียนรู้ของคน  ซึ่งการเรียนรู้แบบสร้างองค์ความรู้ มี 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1) การกระตุ้นความเชื่อ ค่านิยม เงื่อนไขและเกณฑ์ต่างๆ การรับรู้และประสบการณ์  2) การแสวงหาวิถีทางไปสู่การปฏิบัติ ในการค้นหาข้อมูล ข่าวสารใหม่ๆ อาจใช้การตั้งคำถาม การสังเกต การวิจัยปฏิบัติการ การแก้ปัญหา การตรวจสอบและการประเมินงานต่างๆ รวมทั้งเรียนรู้จากการปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best Practice) เป็นต้น 3) การสร้างความหมาย ในสิ่งที่เราเชื่อและคิดสร้างสรรค์ในสิ่งที่เป็นไปได้ การแสวงหาคำตอบอาจใช้กระบวนการวิจัย วิจัยและพัฒนา ซึ่งใช้เทคนิควิธีต่างๆ ในการได้มาซึ่งกระบวนการ รูปแบบต่างๆ และ 4) การปฏิบัติในลักษณะใหม่ๆ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ในการเรียนรู้ มีการวางแผน คิดสร้างสรรค์อย่างหลากหลายวิธีการ และได้ผลลัพธ์ออกมาอย่างหลากหลายรูปแบบและผลลัพธ์ที่แตกต่างกันไป


 การเรียนรู้แบบสร้างองค์ความรู้เกิดขึ้นแบบมีรูปแบบของความสัมพันธ์ของการแลกเปลี่ยนกันและกัน มีการกระตุ้น ความเชื่อ ประสบการณ์ เพื่อแสวงหาคำตอบ สร้างคำถาม เพิ่มความคิดใหม่ๆ นำมาทบทวน สะท้อนคิดเกี่ยวกับการปฏิบัติ การประพฤติ รวมทั้งปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ขั้นตอนที่ซับซ้อนเหล่านี้ต้องการความไว้วางใจ ความไว้เนื้อเชื่อใจ การเคารพซึ่งกันและกัน

Article Details

บท
บทความปริทัศน์ (Review Article)