การศึกษากลยุทธ์และรูปแบบการจัดการที่พักสัมผัสวัฒนธรรมชนบท "โฮมเสตย์" ชุมชนบ้านแม่กำปอง จังหวัดเชียงใหม่

Main Article Content

เทียนพรรณ ปรมัตถ์เสน

Abstract

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงรูปแบบกลยุทธ์และการจัดการการท่องเที่ยวแบบที่พักสัมผัสวัฒนธรรมชนบท “โฮมสเตย์” และเพื่อทราบผลกระทบ หลังการนำหมู่บ้านสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบที่พักสัมผัสวัฒนธรรมชนบท “โฮมสเตย์” ของชุมชนบ้านแม่กำปอง ตั้งอยู่ที่หมู่ 3  ตำบลห้วยแก้ว  กิ่งอำเภอแม่ออน  จังหวัดเชียงใหม่ โดยศึกษา 2 ประเด็นที่สำคัญดังนี้ ปะรเด็นแรก  เรื่องกลยุทธ์และการจัดการ ซึ่งครอบคลุม 4 ด้าน คือด้านการวิเคราะห์สภาพแวดล้อม ด้านการกำหนดกลยุทธ์ ด้านการดำเนินกลยุทธ์ และด้านการควบคุมกลยุทธ์ และประเด็นที่สอง คือ การศึกษาเรื่องผลกระทบ 4 ด้านคือ ด้านการเมืองการปกครอง ด้านวัฒนธรรม ด้านสิ่งแวดล้อมและด้านเศรษฐกิจ

            ผู้ศึกษาได้เก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ โดยสัมภาษณ์ตัวแทนจำนวน 42 ราย จาก 46 ครัวเรือน ที่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องและจัดบ้านพักแบบที่พักสัมผัสวัฒนธรรมชนบท “โฮมสเตย์” และใช้เทคนิคการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง

            ผลการศึกษาทางด้านกลยุทธ์และรูปแบบการจัดการ พบว่าการท่องเที่ยวแบบที่พักสัมผัสวัฒนธรรมชนบท “โฮมสเตย์” ชุมชนบ้านแม่กำปองมีการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมเพื่อค้นหาศักยภาพชุมชน โดยมีองค์กรที่ให้การสนับสนุนทั้งภาครัฐและเอกชน การกำหนดภารกิจของชุมชน แม้ไม่มีการกำหนดไว้ แต่เป็นไปตามกระบวนการวิจัย และมีความสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของผู้นำกระบวนการวิจัยต่าง ๆ

            ผลการศึกษาทางด้านผลกระทบหรือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น หลังจากที่ชุมชนบ้านแม่กำปองนำหมู่บ้านเข้าสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบที่พักสัมผัสวัฒนธรรมชนบท “โฮมสเตย์” พบว่าด้านการเมืองปกครองไม่มีการขัดแย้งในเรื่องอำนาจ แต่กลับส่งผลในทางตรงข้ามคือชุมชนเกิดความเชื่อมั่น ศรัทธาในตัวผู้นำมากขึ้น ด้านวัฒนธรรมแสดงให้เห็นชุมชนมีโอกาสได้เผยแพร่ และมีการฟื้นฟูวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับภูมิปัญญาท้องถิ่นหลาย ๆ อย่างที่เกือบสูญหายไป และพบว่าไม่มีการแปลกปลอมของวัฒนธรรมอื่นเข้ามาในชุมชน ด้านสิ่งแวดล้อม ชุมชนมีความสวยงามเป็นระเบียบและมีสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ดีขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่ามีการเปลี่ยนมือการถือครองที่ดินไปยังบุคคลอื่นแต่ไม่สร้างผลกระทบต่อชุมชน ส่วนในด้านเศรษฐกิจชุมชนมีรายได้เสริมจากการท่องเที่ยวอย่างทั่วถึงผ่านรูปแบบการจัดการของสหกรณ์ และรายได้จากการจัดการท่องเที่ยวไม่มีผลกระทบต่ออาชีพดั้งเดิม เนื่องจากมีการสร้างความเข้าใจว่าการท่องเที่ยวเป็นทางเลือกในการสร้างรายได้เสริม ที่จะช่วยให้ชุมชนมีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และชุมชนมีความภูมิใจที่มีส่วนร่วมในการสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในชุมชนได้ และคาดหวังที่จะพัฒนาให้เกิดความยั่งยืนสืบทอดไป

Article Details

Section
Research Articles