เว็บเซอร์วิส (Web Service) กับ เว็บแอบพลิเคชั่น (Web Application) ความเหมือนที่แตกต่าง

Main Article Content

กฤษณ์ จันทรประยูร

Abstract

                ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่าเรากำลังอยู่ในยุคสารสนเทศซึ่งอินเทอร์เน็ตคือตัวแทนหนึ่งที่ได้เข้ามามีบทบาทกับชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้นทั่วทุกมุมโลก โดยเฉพาะคนในเมืองหลวงหรือหัวเมืองใหญ่ๆ ที่มีความพร้อมด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานเช่น ระบบการสื่อสาร โทรศัพท์สาธารณะในประเทศไทยก็เช่นเดียวกันเดิมการใช้งานระบบอินเทอร์เน็ตจะจำกัดขอบเขตอยู่เฉพาะด้านการศึกษาและการวิจัยในสถาบันการศึกษาต่างๆ โดยผู้ใช้งาน คือ คณาจารย์ นักวิชาการ นักเรียน นักศึกษา ซึ่งเป็นการใช้งานเพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูล แฟ้มโปรแกรม หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ต่อมาเมื่อเทคโนโลยีด้านการสื่อสารก้าวหน้ามากขึ้น เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลมีราคาถูกลง สามารถหาซื้อมาใช้งานได้ง่าย รวมถึงการเข้าถึงข้อมูลอินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์สื่อสารขนาดเล็กเช่น มือถือ และผ่านระบบไร้สายทำให้เว็บไซต์ต่างๆ มีการพัฒนาและนำเสนอเนื้อหาและข้อมูลต่างๆ สู่อินเทอร์เน็ตมากขึ้น

                จากปัจจัยความต้องการข้อมูลข่าวสารรวมทั้งการเข้าถึงข้อมูลอินเทอร์เน็ตได้ง่ายยิ่งขึ้นผ่านระบบไร้สายสาธารณะต่างๆ ได้ทุกที่ทุกเวลาจากเดิมที่ผู้คนรับรู้ข่าวสารผ่านเว็บไซต์โดยการอ่านข้อมูลเพียงด้านเดียวต่อมาได้มีการพัฒนาให้สามารถโต้ตอบ ค้นหา และสร้างเงื่อนไขการเรียกดูข้อมูลต่างๆ และใช้งานเว็บไซต์ได้ใกล้เคียงกับโปรแกรมใช้งานทั่วไปบนเครื่องได้โดยที่ไม่ต้องทำการติดตั้งโปรแกรมในเครื่องคอมพิวเตอร์แต่จะเรียกใช้โปรมแกรมผ่านผู้ให้บริการที่เรียกว่า Web Application  ซึ่งทำให้ผู้คนสามารถใช้โปรแกรมได้หลากหลายและนักพัฒนาโปรแกรมก็สามารถดูแล ปรับปรุง แก้ไขระบบได้ง่ายดายและรวดเร็วยิ่งขึ้นส่งผลให้มีการพัฒนาโปรแกรมใช้งานในหน่วยงาน และ องค์กรต่างๆ ทั้งในภาครัฐและเอกชน ในรูปแบบ Web Application มากขึ้น เช่น การเสียภาษี การทำธุรกรรมการเงิน การซื้อของผ่านอินเทอร์เน็ต การจองตั๋วเครื่องบินฯลฯ ทำให้อินเทอร์เน็ตและ Web Application  ได้เข้ามาผูกพันกับชีวิตประจำวันและมีแต่จะเพิ่มมากยิ่งขึ้นในอนาคต

                เนื่องจากโปรแกรมประเภท Web Application  ที่สร้างขึ้นมานั้นมาจากพื้นฐานที่แตกต่างกันทั้งในด้านโครงสร้างและภาษาที่ใช้ในการเขียนโปรแกรมทำให้โปรแกรมที่ไม่ได้พัฒนาจากพื้นฐานเดียวกันไม่สามารถเรียกใช้ความสามารถหรือ Function ต่างๆ จากอีกโปรแกรมหนึ่งได้ เช่น ต้องการสร้างโปรแกรมให้สามารถเรียกดูข้อมูลหุ้นของบริษัท โดยการกรอกรหัสบริษัทและสามารถแสดงข้อมูลต่างๆ ได้จากหน้าเว็บไซต์ของเราทันที โดยนักพัฒนาต้องทำการติดต่อขออนุญาตดึงข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ซึ่งในทางปฏิบัติทำได้ยากเพราะเหตุผลเรื่องการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล

                จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้นจึงมีการคิดระบบที่เป็นตัวกลางในการรับส่งข้อมูลระหว่างโปรแกรมโดยไม่ยึดติดกับระบบใด ระบบหนึ่ง และสามารถสร้าง Function ต่างๆ โดยอนุญาตให้ผู้พัฒนารายอื่นสามารถเรียกใช้ความสามารถของ Function ที่สร้างขึ้นมาได้ โดยเราเรียกระบบนี้ว่า การให้บริการผ่านเว็บไซต์ หรือ Web Service

Article Details

Section
Academic Articles