คาร์บอนเครดิตกับการลดภาวะโลกร้อน

Main Article Content

พิชัย เหลี่ยวเรืองรัตน์

Abstract

การประกอบกิจกรรมของมนุษย์ก่อให้การสูญเสียภาวะสมดุลของระบบนิเวศ ส่งผลให้เกิดภัยธรรมชาตินานัปการ โดยเฉพาะในภาคพลังงานที่มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มากกว่าร้อยละ 60 ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาทั้งหมด ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุณหภูมิของโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ระดับน้ำทะเลขึ้นสูง ผลกระทบต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ ผลกระทบต่อการเกษตรและแหล่งน้ำ ผลกระทบด้านสุขภาพ การเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรง เช่น น้ำท่วม พายุรุนแรง ภัยแล้ง ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก ภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นจะทวีความรุนแรงมากขึ้น จนกลายเป็นปัญหาที่สำคัญปัญหาหนึ่ง ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกจึงได้มีการทำอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกัน เพื่อแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน ดังเช่น พิธีสารเกียวโต เพื่อให้เกิดความร่วมมือเพื่อลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกมีผลบังคับทางกฎหมายโดยกำหนดให้ภายในปี พ.ศ 2555 การพัฒนากลไกที่สะอาดภายใต้กลไกตามพิธีสารเกียวโต ก่อให้เกิดการซื้อขายกรรมสิทธิ์ในความเป็นเจ้าของก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้ ซึ่งนิยมเรียกกันทั่วไปว่า “คาร์บอนเครดิต” และส่งผลให้เกิดตลาดใหม่ เรียกว่า ตลาดคาร์บอน ซึ่งมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วตามความต้องการของประเทศที่พัฒนาแล้ว สำหรับประเทศไทยมีโครงการที่ได้รับความเห็นชอบภายใต้โครงการที่อาศัยกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM) ที่สามารถซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตได้แล้ว รวมทั้งสิ้น 38 โครงการ สามารถผ่านการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการการบริหารกลไกการพัฒนาที่สะอาดแล้ว จำนวน 10 โครงการ และผ่านการขึ้นทะเบียนที่ได้รับใบรับรอง (CERs) ของสหประชาชาติ เพื่อซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต ได้จำนวน 2 โครงการ ใน 10 โครงการที่ผ่านการขึ้นทะเบียนภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น เป็นการผลิตไฟฟ้าจากวัสดุเหลือใช้จากผลิตภัณฑ์เชิงเกษตร ซึ่งสามารถให้พลังงานทดแทน และเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับที่เป็นที่น่าพอใจ หากภาครัฐมีการผลักดันและกำหนดนโยบายอย่างชัดเจน อาจเริ่มจากมาตรการระยะสั้นที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้มีการขยายการผลิตคาร์บอนเครดิตให้มีปริมาณมากพอที่จะดึงดูดผู้ซื้อจากต่างประเทศโดยมีภาครัฐเป็นผู้นำหลักในการผลักดันภาคอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการจัดทำโครงการ CDM และการเป็นที่ปรึกษาและให้ความรู้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องภายในประเทศรวมถึงการติดต่อประสานงานกับสถาบันการเงินภายในประเทศและต่างประเทศเพื่อประชาสัมพันธ์และเป็นคนกลางให้กับผู้ผลิตในประเทศและผู้ซื้อในต่างประเทศ

Article Details

Section
Academic Articles