องค์ความรู้หมอพื้นบ้าน ณ ศูนย์บำบัดทุกข์สร้างสุขภาพชุมชนตำบลวังแสง จังหวัดมหาสารคาม

Main Article Content

ภาลิณี เชื้อวงค์พรหม
พัชราภรณ์ วงเวียน
รุ่งนภา พิมโพธิ์
วิลัยภรณ์ วรเชษฐ
สมศักดิ์ อาภาศรีทองสกุล
วนิดา ไทรชมภู

Abstract

บทคัดย่อ


บทนำ: การแพทย์พื้นบ้านเป็นระบบการดูแลสุขภาพด้วยตนเองแบบดั้งเดิม  ที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตในชุมชน  การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมองค์ความรู้ของหมอพื้นบ้าน ณ ศูนย์บำบัดทุกข์สร้างสุขภาพชุมชนตำบลวังแสง จังหวัดมหาสารคาม วิธีการศึกษา: ผู้วิจัยได้เข้าไปในชุมชนและพักอาศัยอยู่กับหมอพื้นบ้านเป็นเวลา 2 สัปดาห์ เก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์หมอพื้นบ้านจำนวน  49 คน  ผลการการศึกษา: พบว่าส่วนใหญ่หมอพื้นบ้านมีอายุ 70  ปีขึ้นไป  จบการศึกษาระดับประถมศึกษา  และมีอาชีพทำนา  มีประสบการณ์ในการรักษาอย่างน้อย  20  ปี  พบหมอพื้นบ้านประเภทหมอยาสมุนไพรมากที่สุด (ร้อยละ  51.02)  พบโรคและอาการที่หมอพื้นบ้านสามารถรักษาได้ทั้งหมด  64  โรคหรืออาการ  พบตำรับยาสมุนไพร  58  ตำรับ  สมุนไพรเดี่ยว  27 ชนิด  ตัวอย่างตำรับยา  เช่น  ตำรับยารักษาอาการกลั้นประจำเดือน  พบว่าจากการสังเกตแบบมีส่วนร่วมสามารถรักษาได้ผล  ทำให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ  ตำรับยารักษาอาการปวดเมื่อยร่างกาย  พบว่าหมอพื้นบ้านและชาวบ้านต้มดื่มเป็นประจำ  และตำรับยารักษาโรคมะเร็ง  หมอพื้นบ้านบอกว่ามีผู้ป่วยบางคนที่รักษาหาย   นอกจากนี้พบสมุนไพรจำนวน  209  ชนิด  จากพืชสมุนไพรมากกว่า 66 วงศ์  สมุนไพรที่พบมีการนำไปใช้ในตำรับบ่อยที่สุด  คือ  เถียงถ้วย   พบในตำรับยา  7  ตำรับ  ส่วนต้นปลาดุก (Meyna  velutina Robyns.)  เป็นสมุนไพรที่พบใช้ในการรักษาโรค/อาการได้มากที่สุด  6  โรค/อาการ   หลังจากสิ้นสุดการศึกษาผู้วิจัยได้จัดทำคู่มือการใช้ยาสมุนไพร  ฉบับตำบลวังแสง 1 เล่ม  สรุปผลการศึกษา:  หมอพื้นบ้าน ณ ศูนย์บำบัดทุกข์สร้างสุขภาพชุมชนตำบลวังแสง  ส่วนใหญ่เป็นหมอสมุนไพร  มีองค์ความรู้ในการรักษาโรคได้หลายโรค  พบตำรับยาหลายตำรับ  และมีบางตำรับที่ควรทำการวิจัยอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับสารสำคัญและฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่อไป

Article Details

Section
Appendix