ปัญหาจากการใช้ยาของผู้สูงอายุที่บ้าน ตำบลขามเรียง จังหวัดมหาสารคาม

Main Article Content

อรนุช สารสอน
นิศากร สิทธิ
อภิสิทธิ์ เรือนจันทร์
นัดดา พรหมสาขา ณ สกลนคร
ชนัตถา พลอยเลื่อมแสง
อิสรา จุมมาลี

Abstract

บทคัดย่อ


บทนำ: ด้วยผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น และมีโรคเรื้อรัง โอกาสในการใช้ยาหลายขนานจึงเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เสี่ยงต่อปัญหาการใช้ยา เภสัชกรจึงควรค้นหาขนาดของปัญหาการใช้ยาของผู้สูงอายุที่บ้าน และปัจจัยที่เกี่ยวข้อง


วิธีวิจัย: การศึกษาภาคตัดขวาง เก็บข้อมูล 1–30 พฤศจิกายน 2554 สัมภาษณ์ผู้มีอายุ≥ 60 ปี ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเรื้อรังและมียาใช้ที่บ้าน ใน ต.ขามเรียง จ.มหาสารคาม ทั้งหมด 101 คน


ผลการศึกษา: ผู้สูงอายุ ร้อยละ 71.3 เป็นเพศหญิง  อายุเฉลี่ย 69.11±0.75 ปี  ร้อยละ 98.0 มีผู้ดูแล รายได้เฉลี่ย  3,252.14±470.87 บาท/เดือน  ใช้สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า (ร้อยละ 79.2)   มีโรคประจำตัว≥2 ชนิด (ร้อยละ 59.4) โรคที่พบมากคือความดันโลหิตสูง (ร้อยละ 62.4)  เบาหวาน (ร้อยละ 56.4)  และไขมันในเลือดสูง (ร้อยละ 21.8) ได้ยาเฉลี่ย 4.99±0.25 รายการ/คน ยาที่ใช้มาก คือ Aspirin 81 mg (ร้อยละ 63.4)  ตาม Beers’ criteria 2007 พบผู้ที่ได้รับยาที่มีโอกาสเสี่ยง 20 คน (ร้อยละ 19.8) จาก 14 ชื่อยา  ยาที่เสี่ยงระดับรุนแรงและใช้มากที่สุด คือ Diazepam (ร้อยละ 14.3)  พบอาการไม่พึงประสงค์จากยา 6 คน (ร้อยละ 5.9) มากที่สุดจาก Enalapril (ร้อยละ 50.0)  มีการไอแห้งๆ (ร้อยละ 100.0)  จาก Drug interaction facts 2010 พบโอกาสเกิดอันตรกิริยาระหว่างยา 51 คน (ร้อยละ 50.5)  111 ครั้ง แต่ไม่พบอาการทางคลินิก  คู่ยาที่มีโอกาสเกิดมากคือ Aspirin กับ Enalapril พบ51 คน ผลสัมภาษณ์และนับเม็ดยา ผู้สูงอายุ ร้อยละ 66.3 ไม่ให้ความร่วมมือในการใช้ยา ปัจจัยที่ทำให้ใช้ยามีโอกาสเสี่ยงตาม Beers’ criteria คือ อายุ ≥70 ปี และใช้ยา≥5 ชนิด (p=0.044 และ p=0.013) และใช้ยา≥ 5 ชนิดมีผลต่อโอกาสเกิดอันตรกิริยาระหว่างยา (p<0.001) และการใช้ยารับประทานร่วมกันยาฉีด มีผลต่อความไม่ร่วมมือในการใช้ยา (p=0.003)


สรุปผลการศึกษา: การศึกษานี้ทำให้ทราบขนาดปัญหาการใช้ยาในผู้สูงอายุและปัจจัยเกี่ยวข้อง คือ อายุ≥ 70 ปี ได้รับยา≥ 5 ชนิดขึ้นไป และได้ยาหลายรูปแบบร่วมกัน อันเป็นแนวทางเพื่อจัดการปัญหาการใช้ยาของผู้สูงอายุต่อไป

Article Details

Section
Appendix