การประเมินผลการใช้สื่อวีดีทัศน์ เรื่องยาเหลือใช้ ต่อความรู้และความพึงพอใจของผู้ป่วยนอกโรคเบาหวานและโรคหัวใจและหลอดเลือด

Main Article Content

อัครเดช จันทร์ขอนแก่น
ฉัตรชนก สิงห์โต
ทัศนีย์ วงษ์ธิชัย
ศุภษร อุตตะพุทธ
อรอนงค์ วลีขจรเลิศ
ธนนรรจ์ รัตนโชติพานิช

Abstract

บทคัดย่อ


บทนำ: ในปัจจุบันมีหลายแนวทางในการลดยาเหลือใช้ ในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น การรณรงค์การใช้ยาเก่าก่อนยาใหม่ การบริจาคยาและรณรงค์ให้ผู้ป่วยถือยามาคืนที่โรงพยาบาล แต่ยังไม่พบการศึกษาในด้านการใช้สื่อวีดีทัศน์ ดังนั้นการศึกษานี้จึงศึกษาเกี่ยวกับการประเมินผลการใช้สื่อวีดีทัศน์ เรื่องยาเหลือใช้ ต่อความรู้และความพึงพอใจของผู้ป่วยนอกโรคเบาหวานและโรคหัวใจและหลอดเลือด


วิธีวิจัย: ทำการศึกษาในผู้ป่วยนอกโรคเบาหวานและ/หรือโรคหัวใจและหลอดเลือดที่มารับยาด้วยตัวเองที่โรงพยาบาลมหาสารคาม ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม – 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554 จำนวน 400 ราย โดยเปรียบเทียบความรู้ของผู้ป่วยนอกโรคเบาหวานและ/หรือโรคหัวใจและหลอดเลือดก่อนและหลังการได้รับชมสื่อวีดีทัศน์


ผลการศึกษา: ในด้านความรู้เรื่องยาเหลือใช้ จะเปรียบเทียบความรู้ของผู้เข้าร่วมการศึกษาก่อนและหลังการรับชมสื่อวีดีทัศน์โดยมีคะแนนเต็ม 10 คะแนน พบว่า ก่อนชมสื่อวีดีทัศน์ ผู้เข้าร่วมการศึกษาตอบคำถามได้คะแนนเฉลี่ย 7.43 (±1.586) และ หลังจากชมสื่อวีดีทัศน์ ผู้เข้าร่วมการศึกษาตอบคำถามได้คะแนนเฉลี่ย 9.73 (±0.566)  เมื่อประเมินคะแนนความรู้ของผู้เข้าร่วมการศึกษา (n=400) เปรียบเทียบก่อนและหลังชมสื่อวีดีทัศน์พบว่าคะแนนความรู้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.01) และคะแนนเฉลี่ยหลังการได้รับชมสื่อสื่อวีดีทัศน์สูงกว่าก่อนการได้รับชมสื่อวีดีทัศน์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.01) และจากการประเมินความพึงพอใจในการใช้สื่อวีดีทัศน์การให้ความรู้เรื่องยาเหลือใช้  ผู้เข้าร่วมการศึกษาส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นการได้รับความรู้และประโยชน์ตรงตามทีต้องการ อีกทั้งรูปภาพสื่อความหมายชัดเจน สวยงาม ดึงดูดความสนใจของผู้ชม แสดงให้เห็นว่าสื่อวีดีทัศน์ที่ผลิตสามารถนำมาใช้เป็นสื่อการเรียนรู้  เพราะสามารถถ่ายทอดความรู้ กระตุ้นให้เกิดศักยภาพทางความคิด และมีทักษะในการสร้างความรู้ด้วยตนเอง


สรุปผล: การใช้สื่อวีดีทัศน์เรื่องยาเหลือใช้มีผลต่อความรู้ของผู้ป่วยที่เข้าร่วมการศึกษา เนื่องจากทำให้ผู้ป่วยมีความรู้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน และมีความพึงพอใจต่อการใช้สื่อวีดีทัศน์ อย่างไรก็ตามการใช้สื่อวีดีทัศน์เป็นแนวทางหนึ่งที่จะแก้ไขปัญหายาเหลือใช้และนำไปสู่การใช้ยาอย่างถูกต้อง 

Article Details

Section
Appendix