การพัฒนาและประเมินสื่อการเรียนการสอนโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอนในรายวิชาเภสัชวิทยาบทเรียนเรื่องยารักษาโรคเบาหวาน

Main Article Content

ปรียาภรณ์ พรรณโรจน์
วิระพล ภิมาลย์
ปวิตรา พูลบุตร

Abstract

บทคัดย่อ


บทนำ: ปัจจุบันมีการนำสื่อการเรียนการสอนประเภทคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (Computer – Assisted Instruction; CAI) มาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนเพื่อช่วยให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้หากมีการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนโดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอนในบทเรียนเรื่อง ยารักษาโรคเบาหวานมาช่วยเสริมจะทำให้ผู้เรียนเข้าใจในเนื้อหามากขึ้นได้


วิธีการศึกษา: การศึกษานี้เป็นการศึกษาแบบ Quasi-experimental design มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการใช้สื่อการเรียนรู้ด้วยตนเองทางเภสัชวิทยาในบทเรียนเรื่อง ยารักษาโรคเบาหวาน โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เปรียบเทียบกับการใช้เอกสารประกอบการสอนในนิสิตเภสัชศาสตร์ชั้นปีที่ 2 คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ทำการศึกษาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม พ.ศ. 2555 โดยแบ่งนิสิตเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มควบคุม และกลุ่มทดลอง การสุ่มตัวอย่างใช้วิธีการสุ่มอย่างง่าย ในกลุ่มควบคุมนิสิตจะได้เรียนรู้ด้วยตนเองจากการใช้เอกสารประกอบการสอนที่มีเนื้อหาเหมือนในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่ผู้วิจัยได้พัฒนาขึ้น  สำหรับกลุ่มทดลองจะได้เรียนรู้ด้วยตนเองโดยการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอน วัดผลการศึกษาจากคะแนนของจำนวนข้อคำถามที่ตอบถูก โดยเปรียบเทียบคะแนนก่อน และหลังการเรียนรู้ด้วยตนเองภายในกลุ่ม และระหว่างกลุ่ม  และยังวัดผลของระดับความพึงพอใจ ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่อสื่อที่ผู้เรียนใช้เรียนรู้ด้วยตนเองทั้ง 2 กลุ่ม หลังการเรียนรู้ด้วยตนเองโดยผ่านสื่อทั้ง 2 ชนิด


ผลการศึกษา: คะแนนเฉลี่ยก่อนเรียนของกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง คือ 13.96±2.47 และ 14.20±2.50 ตามลำดับ คะแนนหลังเรียนของกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองคือ 22.67±2.36 และ 20.82±2.58 ตามลำดับ จากผลการศึกษาดังกล่าว เมื่อเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยก่อนเรียนระหว่างกลุ่มพบว่าไม่มีความแตกต่างกันในทางสถิติ (p=0.767) แสดงให้เห็นว่าผู้เข้าร่วมการศึกษามีพื้นฐานความรู้เรื่องยารักษาโรคเบาหวานไม่แตกต่างกันในทางสถิติ เมื่อเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยก่อนเรียนและหลังเรียนภายในกลุ่ม พบว่าทั้งกลุ่มควบคุม และกลุ่มทดลองมีคะแนนหลังเรียนผ่านสื่อทั้ง 2 ชนิดสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001 ทั้ง 2 กลุ่ม) แต่เมื่อเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยหลังเรียนระหว่างกลุ่มพบว่าคะแนนเฉลี่ยหลังเรียนของกลุ่มควบคุมสูงกว่ากลุ่มทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) สำหรับผลความคิดเห็นต่อสื่อที่ผู้เรียนใช้เรียนรู้ด้วยตนเองพบว่า กลุ่มที่ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอนมีคะแนนความพึงพอใจเกี่ยวกับ  ความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาจากสื่อที่ใช้เรียนรู้ด้วยตนเอง ความน่าสนใจของสื่อที่ใช้ในการเรียนรู้ด้วยตนเอง เวลาในการเรียนรู้จากสื่อที่ใช้เรียนรู้ด้วยตนเองมีความเหมาะสม และความพึงพอใจจากการใช้สื่อในการเรียนรู้ด้วยตนเอง มากกว่ากลุ่มที่ใช้เอกสารประกอบการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.045, p<0.001, p= 0.006 และ p=0.009 ตามลำดับ) ข้อเสนอแนะของกลุ่มทดลองมีข้อเสนอแนะให้มีการปรับปรุงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอนในเรื่อง ขนาดของตัวอักษรที่มองเห็นได้ไม่ชัดเจน เสียงการบรรยายที่ช้าเกินไป และควรมีปุ่ม pause และสามารถรีฟังคำบรรยายได้ สำหรับกลุ่มควบคุมมีข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะ ได้แก่ เอกสารมีเนื้อหาที่เข้าใจยาก ควรมีรูปภาพประกอบเสริมความเข้าใจของกลไกต่างๆ แบบทดสอบยากและเน้นความจำจนเกินไป จำนวนเนื้อหาเยอะมากเกินไป และควรมีเวลาในการศึกษาเรียนรู้ที่เพียงพอ


อภิปรายและสรุปผล: จากผลการศึกษา คะแนนเฉลี่ยหลังเรียนของกลุ่มควบคุมสูงกว่ากลุ่มทดลองอย่างมีนัยสำคัญในทางสถิติ อาจเนื่องมาจากข้อจำกัดของการศึกษาคือ ระยะเวลาในการให้ผู้เข้าร่วมการศึกษาได้ศึกษาสื่อการเรียนรู้ทั้ง 2 ชนิด เพียง 1-2 ชั่วโมงซึ่งอาจไม่เพียงพอ และข้อจำกัดของสื่อโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอนคือ ไม่ได้ปรับปรุงให้สมบูรณ์ก่อนการนำไปใช้เก็บข้อมูล แต่ผลการศึกษาก็แสดงให้เห็นว่าทั้งกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยหลังเรียนสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญในทางสถิติ แสดงให้เห็นว่าผู้เข้าร่วมการศึกษามีความรู้ความเข้าใจในบทเรียนเรื่อง ยารักษาโรคเบาหวานหลังจากเรียนรู้จากสื่อทั้ง 2 ชนิด ดังนั้นสรุปได้ว่า โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอนเรื่อง ยารักษาโรคเบาหวานสามารถเพิ่มความรู้ความเข้าใจ และทำให้เกิดความพึงพอใจในนิสิตเภสัชศาสตร์ได้ ดังนั้นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอนจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่นิสิตเภสัชศาสตร์สามารถใช้เรียนรู้ และทบทวนบทเรียนได้ด้วยตนเอง

Article Details

Section
Appendix