ประสิทธิผลของการดูแลคุณภาพการใช้ยาโดยเภสัชกร ร้านยาคุณภาพ

Main Article Content

พิทยา ฤาไกรศรี
ปรมาภรณ์ ดาวงษา
ศิราภรณ์ บุญทันเสน
จงกล สุทธิโส
พยอม สุขเอนกนันท์
จันทร์ทิพย์ กาญจนศิลป์

Abstract

บทคัดย่อ


บทนำ: การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบผลลัพธ์ทางคลินิก ปัญหาที่สืบเนื่องจากการใช้ยา พฤติกรรมการใช้ยา และความพึงพอใจของผู้ป่วยโรคทั่วไปและโรคเรื้อรังระหว่างการให้คำปรึกษาเพื่อดูแลคุณภาพการใช้ยาโดยเภสัชกรร้านยาคุณภาพ(กลุ่มทดลอง)และบริการปกติที่ร้านยาเดียวกัน(กลุ่มควบคุม)


วัสดุและวิธิการทดลอง: การแทรกแซงคือการใช้ปฏิทินยาและการติดตามทางโทรศัพท์เพิ่มเติมจากบริการปกติ   ดำเนินการศึกษาโดยผู้วิจัย 4 คน ในร้านยาคุณภาพ 5 แห่ง ซึ่งเป็นบริการความร่วมมือรับส่งต่อผู้ป่วยจากศูนย์แพทย์ 2 แห่งในจังหวัดร้อยเอ็ดและมหาสารคาม ระหว่างเดือนตุลาคมถึงธันวาคม พ.ศ. 2554 รูปแบบการศึกษา open label     pre-test, post-test randomized controlled trial แบบมีกลุ่มเปรียบเทียบ


ผลการศึกษา: ผู้ร่วมการศึกษาทั้งหมด 142 ราย (กลุ่มละ 71 คน)  พบปัญหาสืบเนื่องจากการใช้ยาก่อนได้รับบริการ 39 ปัญหาในกลุ่มทดลอง(0.51 + 0.69 ปัญหาต่อคน) และ 36 ปัญหาในกลุ่มควบคุม(0.52+ 0.65 ปัญหาต่อคน) ปัญหาที่พบ คือ  ความไม่ร่วมมือในการใช้ยา (ร้อยละ 32.4 และ 25.4 ในกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมตามลำดับ)   การใช้ยาซ้ำซ้อน (ร้อยละ 16.9 และ 16.9 ตามลำดับ)   อาการไม่พึงประสงค์  (ร้อยละ 4.2 และ 5.6 ตามลำดับ) และการได้รับยาที่ไม่จำเป็นในการรักษา (1.4 และ 2.8 ตามลำดับ) หลังการศึกษาพบจำนวนปัญหาสืบเนื่องจากการใช้ยาในกลุ่มทดลองลดลงมากกว่ากลุ่มควบคุมเฉลี่ย 0.42±0.53 ปัญหาต่อคน   ผลลัพธ์ทางคลินิกปกติและดีขึ้นร้อยละ 98.6 เท่ากันทั้งสองกลุ่ม   ในกลุ่มทดลองการติดตามทางโทรศัพท์ทำให้เกิดความร่วมมือในการใช้ยาร้อยละ 85.9   และผู้ป่วยส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการใช้ยาที่ถูกต้องในระดับดีมาก  กลุ่มทดลองพึงพอใจต่อบริการมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ในข้อมูลที่ได้รับและสถานที่ให้บริการมีความเป็นส่วนตัว


สรุปผล: การให้คำปรึกษาเพื่อการดูแลคุณภาพการใช้ยาโดยร้านยาคุณภาพช่วยลดปัญหาที่สืบเนื่องจากการใช้ยา  ช่วยปรับพฤติกรรมการใช้ยาของผู้ป่วย และผู้ป่วยพึงพอใจต่อบริการมากขึ้น  รูปแบบบริการร่วมกับศูนย์แพทย์ควรได้รับการพัฒนาต่อไป

Article Details

Section
Appendix