การประเมินรูปแบบการใช้ยาบรรเทาอาการปวดและยาเสริมบรรเทาปวดในผู้ป่วยโรคข้อเสื่อม ณ โรงพยาบาลจังหวัด ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน

Main Article Content

ภัทรินทร์ กิตติบุญญาคุณ
เพียงขวัญ ศรีมงคล
ภัทรพล เพียรชนะ
ธัญญลักษณ์ ฝูงชมเชย
ไปรมา แดนดงยิ่ง
ภัทรบุญ รุ่งสว่าง
ฤชุกร สินธุรัตน์
วราภรณ์ ภูราศรี
สุกัญญา แก้วอาษา
อำพร คำปัด

Abstract

บทคัดย่อ


บทนำ: ข้อมูลด้านภาพรวมของรูปแบบการใช้ยาบรรเทาอาการปวด (Analgesics) และยาเสริมบรรเทาปวด (Adjuvant drugs) ในผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ รวมทั้งปัญหาการใช้ยาทั้งสองกลุ่มดังกล่าว มีค่อนข้างจำกัดในระดับโรงพยาบาลจังหวัด วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษารูปแบบการสั่งใช้ยาบรรเทาอาการปวดและยาเสริมบรรเทาปวด  แนวโน้มการเกิดปัญหาการใช้ยา และความสัมพันธ์ระหว่างปัญหาการใช้ยากับข้อมูลพื้นฐานของผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมทั้งกลุ่มผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ  วิธีการ: ทำการศึกษาข้อมูลย้อนหลัง (Descriptive Study) ในช่วงวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ถึง 30 กันยายน 2554 ณ โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เก็บข้อมูลจากข้อมูลเวชระเบียนผู้ป่วยนอกและฐานข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ แบ่งกลุ่มการศึกษาเป็นสองกลุ่มได้แก่ กลุ่มผู้ใหญ่ (อายุ 18-59 ปี) และ กลุ่มผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) ซึ่งได้รับยาชนิดรับประทานอย่างน้อยหนึ่งชนิดในกลุ่ม พาราเซตามอล NSAIDs, opioids และ/หรือ ยาในกลุ่ม Antidepressant, Anticonvulsant และ Benzodiazepines โดยใช้เกณฑ์ของ The Pharmaceutical Care Network Europe Classification V 6.2 (2010) ในการประเมินปัญหาการใช้ยาและสาเหตุ ผลการศึกษา: จากจำนวนผู้ป่วยกลุ่มผู้ใหญ่ (200 คน) และกลุ่มผู้สูงอายุ(200 คน) พบว่ามีการสั่งใช้ยารูปแบบ NSAIDs เดี่ยวมากที่สุด คือ 32.3% และ 33.0% ตามลำดับ และแนวโน้มการเกิดปัญหาการใช้ยาที่พบมากที่สุดในสองกลุ่มการศึกษา คือ ได้ผลการรักษาจากยาไม่พอ 54.3% และ 52.0% ตามลำดับ และสาเหตุที่พบมากที่สุดในกลุ่มผู้ใหญ่ คือ ใช้ยาที่ขนาดต่ำเกินไป และช่วงระยะเวลาการให้ยาห่างเกินไป 24.7% ในกลุ่มผู้ป่วยสูงอายุ คือ ไม่มีการใช้ยาที่จำเป็นต้องใช้ร่วมเพื่อเสริมฤทธิ์หรือป้องกันผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหาร และช่วงระยะเวลาการให้ยาห่างเกินไป 24.0% และในกลุ่มผู้ใหญ่ พบว่า อายุที่เพิ่มขึ้นมีความสัมพันธ์กับจำนวนปัญหาการใช้ยาที่เพิ่มขึ้น (r = 0.185; p=0.019) ส่วนในกลุ่มผู้สูงอายุ พบว่าจำนวนยาบรรเทาอาการปวดมีความสัมพันธ์กับจำนวนปัญหาการใช้ยา (r=0.207; p=0.035)  สรุปผล: การวิจัยครั้งนี้ทำให้เข้าใจภาพรวมของรูปแบบการใช้ยา ปัญหาการใช้ยาและสาเหตุของทั้งยากลุ่มบรรเทาอาการปวดและยาเสริมบรรเทาปวดในผู้ป่วยโรคข้อเสื่อม ซึ่งนำไปสู่แนวทางในการพัฒนางานบริบาลเภสัชกรรมผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมต่อไป

Article Details

Section
Appendix