ผลของสาร cycloalliin ต่อการสลายไขมันในเซลล์ไขมันจากหนูขาว

Main Article Content

อธิกา จารุโชติกมล
จินตนา ประทุมชาติ
จิราพร พรหมโคตร
ฉวีวรรณ พุ่มเพ็ชร
ศิรินันท์ จันร่องคำ

Abstract

บทคัดย่อ


บทนำ: พืชตระกูล Allium เช่น หอมหัวใหญ่และกระเทียมเป็นพืชที่ใช้ในครัวเรือน และเป็นสมุนไพรทางการแพทย์  มีฤทธิ์ลดระดับไขมันและน้ำตาลในเลือด  ส่วนสาร cycloalliin เป็นสารประกอบหลักในกลุ่มซัลเฟอร์ พบในพืชทั้ง 2 ชนิด จากการศึกษาที่ผ่านมาสาร cycloalliin มีฤทธิ์ลดระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ ในเลือดหนูขาวได้   กระบวนการสลายไขมันมีบทบาทสำคัญในการควบคุมเมตาบอลิซึมของน้ำตาลและไขมันในร่างกาย  การศึกษานี้จึงศึกษาผลของสาร cycloalliin ต่อการสลายไขมันในเซลล์ไขมันของหนูขาว วัสดุและวิธีการทดลอง: หนูขาวเพศผู้ 16 ตัว แบ่งเป็น 2 กลุ่ม  แต่ละกลุ่มเลี้ยงด้วยอาหารต่างชนิดกัน คือ กลุ่มอาหารปกติ (NPD) และกลุ่มอาหารไขมันสูง (HFD) เลี้ยงนาน 3 สัปดาห์ จากนั้นนำเซลล์ไขมันจาก epididymal fat pads ของหนูในแต่ละกลุ่มทดสอบกับสาร cycloalliin ที่ความเข้มข้นต่างๆ ในสภาวะเซลล์ปกติ (basal lipolysis) หรือในสภาวะ isoprenaline (0.1µM; ISO-induced lipolysis) ทิ้งไว้ 1 ชั่วโมงที่ 37 oC และหาการสลายไขมันด้วยการวัดกรดไขมัน (FFAs) ที่เกิดขึ้นในสารละลาย โดยใช้ชุดทดสอบ  ผลการศึกษา: ที่สภาวะ ISO-induced lipolysis เซลล์ไขมันกลุ่ม NPD สาร cycloalliin ที่ 1, 10 และ 100 µM  มีฤทธิ์ยับยั้งการสลายไขมันได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05; n=5) เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม  โดยระดับ FFAs = 581.47±67.79, 575.3±28.95 และ 555.77±45.53 µM/mL PCV/hr ตามลำดับ แต่สาร cycloalliin ไม่มีผลในกลุ่ม HFD อีกทั้งไม่มีผลที่สภาวะ basal lipolysis  ทั้งในเซลล์ไขมันที่ได้รับ NPD และ HFD สรุปผล: ที่สภาวะ ISO-induced lipolysis สาร cycloalliin สามารถยับยั้งการสลายไขมันในเซลล์ไขมันกลุ่ม NPD  ซึ่งผลของสาร cycloalliin ในการควบคุมการสลายไขมันนี้อาจมีความสัมพันธ์ในการเกิดฤทธิ์รักษาภาวะไขมันในเลือดสูงและเบาหวาน  แต่อย่างไรก็ตามควรมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

Article Details

Section
Appendix