ความสัมพันธ์ของพารามิเตอร์ทางเภสัชจลนศาสตร์: อัตราการกำจัดยาฟีนัยโตอินและวาลโปรเอท

Main Article Content

สิริกานดา โกสุวรรณ
อรณัส อินทรามะ
อรวรรณ ภักดีพินิจ
กนกวรรณ ลีละศาสตร์
ทัดตา ศรีบุญเรือง

Abstract

บทคัดย่อ


บทนำ: ปัจจุบันมีการรักษาอาการชักและอาการทางการควบคุมอารมณ์โดยการใช้ฟีนัยโตอินร่วมกับวาลโปรเอทมากขึ้นในผู้ป่วยจิตประสาท ยาทั้งสองชนิดมีการกำจัดผ่านตับเป็นหลักและยามีการจับกับโปรตีนในเลือดสูง ดังนั้น พารามิเตอร์ทางเภสัชจลนศาสตร์ของยาทั้งสองชนิดอาจมีความสัมพันธ์กัน งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการกำจัดยากันชักในผู้ป่วยจิตประสาทที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ที่ใช้ยากันชักร่วมกัน 2 ชนิด คือ อัตราการกำจัดยาของฟีนัยโตอิน (Vmax, phen)  กับวาลโปรเอท (ClVPA) วิธีดำเนินการวิจัย: การวิจัยนี้เป็นการเก็บข้อมูลระดับยาในเลือดและประวัติการใช้ยาของผู้ป่วยย้อนหลัง (retrospective study) ณ โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ ระหว่างปี พ.ศ. 2550 – 2555 พบกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ยาร่วมกันทั้งสองชนิดและมีรายงานค่าระดับยาจำนวน 14 รายที่ถูกคัดเลือกเข้าการศึกษา กลุ่มตัวอย่างทุกรายมีระดับยาที่ถึงสภาวะคงที่ (steady state) และไม่มีการเปลี่ยนแปลงขนาดยานานกว่า      1 เดือนก่อนหน้ารายงานผลค่าระดับยา การเก็บตัวอย่างเลือดจะดำเนินการช่วงเช้าก่อนการให้ยามื้อถัดไป และนำไปวิเคราะห์ระดับยาในเลือด โดยวิธีการ Turbidimetric Inhibition Immunoassay Method (Synchron CX® Systems Beckman Coulter,Inc)  นำผลระดับยาที่ได้มาคำนวณค่าทางเภสัชจลนศาสตร์และวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ต่อไปโดยใช้สถิติการวิเคราะห์ความถดถอยและสหสัมพันธ์อย่างง่าย ผลการวิจัย: พบอัตราการกำจัดยาของฟีนัยโตอิน (Vmax, phen) มีความสัมพันธ์และสามารถทำนายอัตราการกำจัดยาของวาลโปรเอท (ClVPA) ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = 0.726, p-value= 0.003) ทำให้สามารถทำนาย ClVPA จาก Vmax, phen ผ่านสมการอย่างง่ายได้ และสามารถทำนาย Vmax, phen จาก ClVPAได้เช่นกัน สรุปผล: ณ สภาวะคงที่ของระดับยาฟีนัยโตอินและวาลโปรเอทที่ใช้ร่วมกัน พบอัตราการกำจัดยาของยาทั้งสองมีความสัมพันธ์กันและสามารถใช้ทำนายอัตราการกำจัดอีกชนิดได้ เมื่อทราบอัตราการกำจัดยาของยาชนิดใดชนิดหนึ่ง

Article Details

Section
Appendix