การออกแบบอุปกรณ์สำหรับอาสาสมัครกู้ภัยจราจร เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อน

Main Article Content

สมบุญญา บุญรัตพันธ์
ธนสิทธิ์ จันทะรี

บทคัดย่อ

ในสถานการณ์การปฏิบัติหน้าที่ของอาสาสมัครกู้ภัยในการเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุจราจร หน่วยกู้ภัยและเจ้าหน้าที่ด้านต่าง ๆ ต้องเผชิญหน้ากับอันตรายที่มีแนวโน้มจะเป็นภัยต่อชีวิต จากการปฏิบัติงานเข้าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในบริเวณที่เกิดเหตุที่มีความเสี่ยงของบริเวณถนนที่เป็นอันตราย (Harzardous Road Locations) โดยทั่วไปหมายถึงจุดดำ (black spot) หรือจุดอันตรายซึ่งเป็นจุดที่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นมาก และมีตำแหน่งที่แน่ชัด เช่น ทางแยก ทางโค้งที่บดบังระยะการมองเห็นโดนต้นไม้หรือเกาะกลาง บริเวณทางโค้งก่อนถึงจุดกลับรถ หรือทางโค้งระหว่างการขึ้นเนิน อาสาสมัครกู้ภัยที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ เจ้าหน้าที่ในด้านต่างๆที่เกี่ยวข้อง หรือแม้กระทั่งประชาชนที่อยู่ในที่เกิดเหตุบุคคลเหล่านี้จึงมีความเสี่ยงที่จะได้รับอุบัติเหตุจากยานพาหนะที่สัญจรผ่านเข้ามาในบริเวณพื้นที่ปฏิบัติงานกู้ภัย ทำให้ได้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต โดยสาเหตุจากประเด็นเกี่ยวกับการควบคุมจราจร หากไม่สามารถควบคุมจราจรในพื้นที่ปฏิบัติงานกู้ภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงทีจะทำให้เกิดปัญหาการจราจรในพื้นที่ปฏิบัติงานกู้ภัยจราจรได้ และเมื่อเกิดปัญหาการจราจรก็จะทำให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อน การควบคุมจราจรในพื้นที่ปฏิบัติงานกู้ภัยหากสามารถทำได้ทันทีที่เข้าไปถึงที่เกิดเหตุก็จะสามารถลดความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อนได้ โดยมีวัตถุประสงค์ของการวิจัยเพื่อออกแบบอุปกรณ์ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อน สำหรับอาสาสมัครกู้ภัยจราจร ที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมจราจรในพื้นที่ปฏิบัติงานกู้ภัย และเพื่อประเมินประสิทธิภาพการใช้งานเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อน สำหรับอาสาสมัครกู้ภัยจราจรได้รับการออกแบบ


จากการศึกษาพบว่าเมื่อเกิดอุบัติเหตุทางถนน การควบคุมจราจรในพื้นที่ปฏิบัติงานกู้ภัยที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด คือ จะใช้รถกู้ภัยทำการบล็อกถนนเป็นกำแพงกั้นพื้นที่ปฏิบัติงานเพื่อบังคับให้ยานพาหนะอื่นๆ ลดความเร็วลง แล้วไปวิ่งอีกเลนหนึ่งหรือถนนฝั่งตรงข้ามแล้วแต่กรณี โดยจะมีการใช้อุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยของการปฏิบัติการร่วมด้วย เช่น กรวยจราจร เป็นอุปกรณ์ป้องกันตัวเองขั้นพื้นฐาน และจะมีความจำเป็นอย่างยิ่งเมื่อเข้าไปถึงที่เกิดเหตุเป็นหน่วยแรก หรือยังไม่มีหน่วยสนับสนุนเข้ามาทำการควบคุมการจราจร ผู้วิจัยพบสภาพปัญหาที่สำคัญคือ อุปกรณ์ป้องกันตัวเองเหล่านี้ จำเป็นจะต้องใช้ในจำนวนมาก เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการทำงาน และจะเป็นไปได้ยากเมื่อจะต้องนำพาไปด้วยกับยานพาหนะสำหรับปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน เช่น รถกระบะต่อเติม รถตู้ของอาสาสมัครกู้ภัยที่มีเครื่องมือที่จำเป็นและอุปกรณ์การแพทย์ในพื้นที่จำกัด อันเป็นผลต่อการกำหนดปัจจัยที่มีผลต่อการออกแบบอุปกรณ์สำหรับอาสาสมัครกู้ภัยจราจร เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อน 3 ด้าน ดังนี้ ปัจจัยด้านกายภาพ คือ สามารถจัดเก็บอยู่ในส่วนเคลื่อนย้ายของยานพาหนะสำหรับปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินได้ในพื้นที่จำกัด ปัจจัยที่มีผลให้การทำงานมีประสิทธิภาพ คือ สามารถส่งสัญญาณให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะที่กำลังสัญจรผ่านเข้ามาในพื้นที่ปฏิบัติงานกู้ภัย ในช่วงเวลาพลบค่ำ หรือทัศนวิสัยการมองเห็นต่ำ ให้รับรู้ถึงพื้นที่ปฏิบัติงานกู้ภัยก่อนล่วงหน้า และปัจจัยด้านสัญศาสตร์  คือ ลักษณะรูปแบบมีรูปทรง ขนาด ใช้งานง่ายและไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการปฏิบัติงานของอาสาสมัครกู้ภัยจราจร

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

พิชัย ธานีรณานนท์. (2548). ถนนปลอดภัยด้วยหลักวิศวกรรม (Engineering Safety Road). กรุงเทพ : บ.ลิมบราเดอร์การพิมพ์.
ชาตรี เจริญชีวะกุล. (2554). การดำเนินงานระบบการแพทย์ฉุกเฉินในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น. กรุงเทพ : บ.นิวธรรมดาการพิมพ์.
Thomas Safford. (2017). Plasticade. Feb 10, 2017, from https://www.plasticade.com/traffic_safety/channelizers
/gemstone_vertical_panel
Thomas Safford. (2017). Traffic Safety. Feb 10, 2017, fromhttps://www.plasticade.com/traffic_safety
/channelizers/verticade
Hill & Smith. (2018). We are Hill & Smith Inc. Feb 10, 2017, from https://hillandsmith.com/