บทบาลีในคัมภีร์อภิธัมมัตถวิภาวินี ปัญจิกา อัตถโยชนา ตามสูตรคัมภีร์สัททาวิเสส : ศึกษาเชิงวิเคราะห์

Main Article Content

พระมหาโกมล โกมล แก้วดึง

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ คือ (๑) เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาของคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและคัมภีร์อภิธัมมัตถวิภาวินี ปัญจิกา อัตถโยชนา (๒) เพื่อวิเคราะห์บทบาลีตามสูตรคัมภีร์สัททาวิเสสในคัมภีร์อภิธัมมัตถวิภาวินี ปัญจิกา อัตถโยชนา ผลการวิจัยพบว่า คัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะรจนาโดยพระอนุรุทธาจารย์ ชาวเมืองท่ากาเวริ อินเดียตอนใต้ ได้พักที่วัดมหาเมฆวัน เมืองอนุราธบุรี ประเทศศรีลังกา คัมภีร์นี้เปรียบเสมือนเพชรน้ำเอกทางวรรณกรรมบาลีของท่าน ส่วนคัมภีร์อภิธัมมัตถวิภาวินี ปัญจิกา อัตถโยชนา รจนาโดยพระญาณกิตติเถระแห่งล้านนา ชาวเชียงใหม่ ขณะจำพรรษาอยู่วัดปนสาราม เมื่อ พ.ศ. ๒๐๔๕ เป็นพระอาจารย์ของพระเจ้าติโลกราช และเคยไปศึกษาที่ประเทศลังกาในรัชกาลกษัตริย์กรุงลังกาปรักกรมพาหุที่ ๖ หลักการสำคัญในการรจนาคัมภีร์โยชนา คือการนำเสนอเนื้อหา ๔ ประการ คือ (๑) วากยานุสัมพันธ์-    การสัมพันธ์ประโยค (๒) รูปวิเคราะห์สมาส ตัทธิต และกิตก์ พร้อมกับการประกอบรูปศัพท์ มีกระบวนการสร้างคำโดยนำสูตรจากกลุ่มคัมภีร์สัททาวิเสส มีคัมภีร์กัจจายนะ เป็นต้น รวมสูตรที่ปรากฏในปริจเฉทที่ ๑ จำนวน ๒๓๘ สูตร บรรดาสูตรเหล่านั้น วิธิสูตรมีจำนวนมากที่สุด คือ ๒๒๘ สูตร (๓) ความหมายของอุปสัคและนิบาต (๔) ความสัมพันธ์ของประโยคภาษาบาลี  พระญาณกิตติเถระได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้แตกฉานไวยากรณ์บาลีและสันสกฤต เป็นปราชญ์ผู้รอบรู้หลักธรรมวินัยอย่างลึกซึ้ง ตั้งแต่อดีตกระทั่งปัจจุบัน

Article Details

บท
บทความวิจัย