รูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นฐานของโรงเรียนในพื้นที่ตำบลนางแล จังหวัดเชียงราย

ผู้แต่ง

  • แสงระวี ณ ลำพูน
  • จันทร์จิรา ชัยภมรฤทธิ์
  • บรรจบ สุขประภาภรณ์

คำสำคัญ:

การพัฒนารูปแบบ, ความคิดสร้างสรรค์, ภูมิปัญญาท้องถิ่น

บทคัดย่อ

                   การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมาย เพื่อศึกษาสภาพปัญหาและภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจัดการเรียนรู้ของครูในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของเด็กนักเรียนและเพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ของครูในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นฐานของโรงเรียนในพื้นที่ตำบลนางแล จังหวัดเชียงราย ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ได้แก่ ครู ผู้บริหารโรงเรียนในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตำบลนางแล จังหวัดเชียงราย จำนวน 5 โรงเรียน 40 คน   เป็นกลุ่มที่ได้จากการเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ แบบบันทึกการสนทนากลุ่ม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ คือ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา

                   1.ผลการศึกษา สภาพปัญหาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของโรงเรียน พบว่า สภาพปัญหาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในภาพรวมมีระดับปัญหาในการจัดกิจกรรมมากที่สุด โดยเฉพาะในด้านการจัดทำชุดกิจกรรมการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ การวัดผลประเมินผลตามจุดประสงค์หลักของหลักสูตร การศึกษาสภาพภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือของดีในชุมชนที่เป็นจุดเด่นและเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญที่โรงเรียนสามารถนำมาบูรณาการจัดการเรียนรู้ในห้องเรียนแบ่งได้เป็น 5  ประเภท ได้แก่  1.ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวกับอาหารและผักพื้นบ้าน 2. ภูมิปัญญาที่เกี่ยวกับประเพณีและพิธีกรรม 3. ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวกับการประดิษฐกรรม – เทคโนโลยีและสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ 4. ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวกับการดำรงชีวิตตามสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ  5. ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวกับสมุนไพรและตำรายาพื้นบ้าน

  1. ผลการศึกษารูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นฐานของโรงเรียนในพื้นที่ตำบลนางแล จังหวัดเชียงราย พบว่า หลักการของรูปแบบเน้นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ STEM ที่ผสมผสานกับกิจกรรมการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ตามแนวคิดของกิลฟอร์ด คือ คิด ความคิดริเริ่ม ความคิดคล่องแคล่ว และความคิดยืดหยุ่น โดยให้สอด คล้องกับมาตรฐานและตัวชี้วัดความสามารถของนักเรียนแต่ละระดับชั้น มีเนื้อหาสาระร้อยเรียงเรื่องของภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวกับสมุนไพรและตำรายาพื้นบ้าน มาสร้างเป็นชุดกิจกรรมตั้งแต่ระดับปฐมวัย – ประถมศึกษา โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการที่ผู้เรียนมีทักษะในการจัดทำโครงงานเพื่อสร้างอาชีพให้กับผู้เรียน ผลการนำรูปแบบไปทดลองใช้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนอนุบาลนางแลบ้านทุ่งพบว่า มีระดับความคิดสร้างสรรค์ในภาพรวมทั้ง 4  ด้าน ได้แก่ ด้านความละเอียดลออ ความคิดคล่องแคล่ว ความคิดริเริ่ม และความคิดยืดหยุ่น ผ่านเกณฑ์ร้อยละ  80 ระดับความคิดสร้างสรรค์หลังเรียนรายบุคคล พบว่าผู้เรียนที่ผ่านเกณฑ์ร้อยละ  80 ด้านความคิดละเอียดลออ คิดเป็นร้อยละ 70       ด้านความคิดคล่องแคล่ว คิดเป็นร้อยละ 100 ด้านความคิดริเริ่ม คิดเป็นร้อยละ 90 และด้านความคิดยืดหยุ่น คิดเป็นร้อยละ 80 และผู้เรียนมีความพึงพอใจอยู่ในระดับดีมากต่อการเรียนการสอน

References

ดวงฤทัย อรรคแสง. (2552). กระบวนการจัดการความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น.ขอนแก่น:
มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ฐิติลักษณ์ วัฒนศิริ,ปริญญา ทองสอน และสมศิริ สิงห์ลพ.(2561). ศึกษาผลการใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่บูรณาการองค์ความรู้ตามแนวสะเต็มศึกษา สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1.วารสารศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ,20(3),49-63
สุคนธ์ สินธพานนท์ และคณะ. (2551). พัฒนาทักษะการคิดพิชิตการสอน. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ เลี่ยงเชียง
ศุกฤตา ภู่ระหงษ์. (2556).การพัฒนากิจกรรมส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์โดยใช้แนวคิดทอร์แรนซ์ผ่านงานศิลปะเรื่องวัฒนธรรมอาเซียนสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5.(การศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองสาขาวิชาหลักสูตรและการสอน,มหาวิทยาลัยนเรศวร).
อรพรรณ์ แก้วกันหา,จุฑามาส ศรีจำนง และจุรีรัตน์ ประวาลลัญฉกร.( 2560).การวิจัยปฏิบัติการเพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ รายวิชาคอมพิวเตอร์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนบ้านน้ำคิว สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเลย เขต 1 .วารสารศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร ,19( 2),289-304

Downloads

เผยแพร่แล้ว

06-09-2019