การประเมินกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีชุมชนกล้วยกลาง ตำบลกล้วยแพะ อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง

ผู้แต่ง

  • สายฝน โนปิง
  • สุวรัฐ แลสันกลาง

คำสำคัญ:

การประเมินผล, กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี

บทคัดย่อ

          การประเมินกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีชุมชนกล้วยกลางตำบลกล้วยแพะ อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามและศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาอุปสรรคการดำเนินงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีชุมชนกล้วยกลาง ตำบลกล้วยแพะ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 โดยใช้รูปแบบการประเมินแบบ CIPP (CIPP Evaluation Model) ที่ประกอบด้วย ด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาได้แก่ คณะกรรมการกองทุน และสมาชิกกองทุน จำนวน 20 คนเครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาคือแบบสัมภาษณ์ การสังเกต การสนทนากลุ่ม และนำข้อมูลที่รวบรวม มาวิเคราะห์แสดงในรูปแบบเชิงพรรณนา ผลการศึกษาสรุปได้ดังนี้

          ด้านบริบท พบว่า กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี สอดคล้องกับความต้องการช่วยเหลือ กลุ่มสตรี ให้มีอาชีพและรายได้เพิ่มขึ้น ส่งเสริมทุนการประกอบอาชีพ แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัว ช่วยสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนพัฒนาสตรีแบบดอกเบี้ยต่ำหรือปลอดดอกเบี้ย การดำเนินการกองทุนดังกล่าว สามารถช่วยเหลือสตรีให้มีแหล่งเงินทุนหมุนเวียน สามารถประกอบอาชีพ ให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น มีชีวิต ความเป็นอยู่ในครอบครัวที่ดี มีสุขภาพจิตและสุขภาพกายที่ดีขึ้น ด้านปัจจัยนำเข้า พบว่า กองทุนได้กำหนดบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารกองทุนและผู้ทรงคุณวุฒิกองทุน รวมถึงนำข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาของสตรีในชุมชนกล้วยกลาง มาประกอบการพิจารณา และปัจจัยนำเข้าที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานกองทุน คือ งบประมาณที่ได้รับไม่เพียงพอต่อความต้องการของสมาชิกกองทุน วัสดุอุปกรณ์ มีไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติงานของกองทุน ส่วนปัจจัยนำเข้าที่ส่งผลดีต่อการดำเนินงานกองทุน คือ การมีส่วนร่วมในชุมชน ด้านกระบวนการ พบว่า กระบวนการดำเนินงานของกองทุนฯ มีความเหมาะสมครอบคลุม โดยนำปัจจัย ด้านสภาพแวดล้อมและปัจจัยนำเข้า มาประกอบการพิจารณาจัดทำแผนงานกองทุน ส่งเสริมและสนับสนุนให้สมาชิกกองทุนได้จัดกิจกรรมตามวัตถุประสงค์ของกองทุน เช่น การเข้ารับการฝึกอบรมให้ความรู้เพื่อพัฒนาตนเอง การได้รับข้อมูลข่าวสาร มีการประเมินและติดตามผลการดำเนินงานตามโครงการ กระบวนการที่ส่งผลดีต่อต่อการดำเนินงานกองทุน คือ สมาชิกกองทุนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร การประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับกองทุน มีส่วนร่วมในกิจกรรมของหมู่บ้าน ด้านผลผลิตของนโยบายกองทุนฯพบว่า การดำเนินงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี สามารถแก้ไขปัญหาได้คือ สมาชิกกองทุนมีแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ช่วยเหลือในการประกอบอาชีพ สามารถเพิ่มรายได้ให้ครอบครัว มีทุนหมุนเวียนในการประกอบกิจการ มีอาชีพเสริมหรือรายได้ที่แน่นอน ครอบครัวมีความสุข ลดปัญหาครอบครัวแตกแยก ช่วยเหลือสตรีที่มีรายได้น้อย แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัว สมาชิกกองทุนได้รับการช่วยเหลืออย่างทั่วถึง เสมอภาค สมาชิกกองทุนได้รับการพัฒนาอาชีพ ส่งเสริมการมีงานทำงาน 

Downloads

เผยแพร่แล้ว

30-12-2015