ความคุ้มค่าในการปรับปรุงกระบวนการผลิตจากการทำบัญชีต้นทุนการไหลของวัสดุ กรณีศึกษาในบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์

ผู้แต่ง

  • อัษฎางค์ รัตนธำรง
  • พัฒน์ พัฒนรังสรรค์

คำสำคัญ:

บัญชีต้นทุนการไหลของวัสดุ, การลดต้นทุน, การศึกษาความเป็นไปได้, Material Flow Cost Accounting, Cost Reduction, Feasibility Study,

บทคัดย่อ

     การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาลักษณะของกระบวนการผลิตและการคำนวณต้นทุนในอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์โดยทั่วไปกับการคำนวณโดยใช้บัญชีต้นทุนการไหลของวัสดุ 2) วิเคราะห์ความคุ้มค่าในการลงทุนปรับปรุงลดความสูญเสียในการผลิตตามที่แยกได้จากการคำนวณบัญชีต้นทุนการไหลของวัสดุ และ 3) ศึกษาการนำบัญชีต้นทุนการไหลของวัสดุมาประยุกต์ใช้ในองค์กรเพื่อลดความสูญเสียในกระบวนการผลิต โดยใช้ข้อมูลค่าใช้จ่ายในการผลิต และปริมาณการใช้วัสดุจากบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์แห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี นำมาทดลองทำ MFCA ในผลิตภัณฑ์ตัวอย่างเพื่อค้นหาความสูญเสียด้านวัสดุและพลังงาน ซึ่งไม่สามารถพบจากการคำนวณต้นทุนแบบทั่วไป รวมทั้งศึกษาความคุ้มค่าในการลงทุนปรับปรุงเพื่อลดความสูญเสียนั้น แล้วจึงสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูงในบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ถึงต้นทุนและผลกระทบที่เป็นไปได้ในการประยุกต์ใช้ MFCA ทั่วทั้งองค์กร

     ผลการศึกษาพบว่าการใช้บัญชีต้นทุนการไหลของวัสดุสามารถพบความสูญเสียในการผลิตได้ 10.99 บาทต่อหน่วยจากต้นทุนรวม 88.32 บาท ขณะที่ต้นทุนเดิมคำนวณความสูญเสียได้ 0.08 บาทต่อหน่วยจากต้นทุนรวมต่อหน่วย 89.94 บาท ผู้เชี่ยวชาญวิศวกรรมการผลิตของบริษัทได้เสนอโครงการปรับปรุงแม่พิมพ์เพื่อลดปริมาณการใช้อลูมิเนียมได้ร้อยละ 9.56 และลดต้นทุนต่อหน่วยได้ 3.59 บาท ผลศึกษาความเป็นไปได้ทางการเงิน โดยคิดอายุการใช้งานแม่พิมพ์ 27 เดือน และอัตราคิดลดร้อยละ 1.04 ต่อเดือน พบว่าโครงการมีมูลค่าปัจจุบันสุทธิของการลงทุน 515,533 บาท ระยะเวลาคืนทุน 3.29 เดือน แสดงให้เห็นว่าการทำ MFCA ทำให้พบความสูญเสียในกระบวนการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีความคุ้มค่าในการลงทุนปรับปรุง และจากการพิจารณาต้นทุนและผลกระทบที่เป็นไปได้เบื้องต้นพบว่าการประยุกต์ใช้ MFCA ทั่วทั้งองค์กรมีแนวโน้มที่จะมีความคุ้มค่า

Downloads

เผยแพร่แล้ว

31-12-2016