จริยธรรมในการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงาน (Publication Ethics)     

         วารสารราชธานีนวัตกรรมทางสังคมศาสตร์ (JRISS) มีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ เพื่อให้การสื่อสารทางวิชาการเป็นไปอย่างถูกต้อง และสอดคล้องกับมาตรฐานการตีพิมพ์นานาชาติ จึงได้กำหนดจริยธรรมของการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยไว้สำหรับการดำเนินงานของวารสาร ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องปฏิบัติตามหลักการและมาตรฐานด้านจริยธรรมในการตีพิมพ์อย่างเคร่งครัดตามบทบาทหน้าที่ดังนี้

 

บทบาทหน้าที่ของบรรณาธิการวารสาร (Duties of Editors)

  1. บรรณาธิการมีหน้าที่พิจารณาและตรวจสอบคุณภาพของบทความที่ส่งมาเข้ารับการพิจารณาเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร โดยพิจารณาเนื้อหาบทความที่สอดคล้องกับเป้าหมายและขอบเขตของวารสาร รวมถึงการตรวจสอบคุณภาพบทความในกระบวนการประเมินและคุณภาพบทความก่อนการตีพิมพ์
  2. บรรณาธิการต้องไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้นิพนธ์ และ ผู้ประเมินบทความ ให้บุคคลอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องในช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความ
  3. บรรณาธิการต้องไม่ตีพิมพ์บทความที่เคยตีพิมพ์หรือเผยแพร่ที่อื่นมาแล้ว
  4. บรรณาธิการมีหน้าที่ตรวจสอบบทความในด้านความซ้ำซ้อนหรือในด้านการคัดลอกผู้อื่น (Plagiarism) อย่างจริงจังโดยใช้โปรแกรมตรวจสอบความซ้ำซ้อนที่เชื่อถือได้ เพื่อให้แน่ใจว่าบทความที่ลงตีพิมพ์ในวารสารไม่มีการคัดลอกผลงานของผู้อื่น
  5. หากตรวจสอบพบความซ้ำซ้อนหรือการคัดลอกผลงานของผู้อื่นในกระบวนการประเมินบทความ บรรณาธิการต้องหยุดกระบวนการประเมิน และติดต่อผู้นิพนธ์หลักทันทีเพื่อขอคำชี้แจง เพื่อประกอบการ “ตอบรับ” หรือ “ปฏิเสธ” การตีพิมพ์บทความนั้น ๆ
  6. กรณีที่ผลงานเป็นการวิจัยในมนุษย์ หรือสัตว์ทดลอง ผู้นิพนธ์จะต้องแนบหนังสือรับรองจริยธรรมจากคณะกรรมการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ หรือจากคณะกรรมการจริยธรรมการใช้สัตว์ทดลองตามแต่กรณี
  7. บรรณาธิการต้องใช้เหตุผลทางวิชาการในการพิจารณาบทความโดยปราศจากอคติที่มีต่อบทความและผู้นิพนธ์ทั้งในด้านเพศ เชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม การเมือง และสังกัดของผู้นิพนธ์
  8. บรรณาธิการต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้นิพนธ์หรือผู้ประเมินบทความ ไม่นำบทความหรือวารสารไปใช้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจหรือนำไปเป็นผลงานทางวิชาการของตนเอง
  9. บรรณาธิการต้องไม่แก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงเนื้อหาบทความและผลประเมินของผู้ทรงคุณวุฒิ รวมถึงไม่ปิดกั้นหรือแทรกแซงข้อมูลที่ใช้แลกเปลี่ยนระหว่างผู้ทรงคุณวุฒิและผู้นิพนธ์

 

บทบาทหน้าที่ของผู้นิพนธ์ (Duties of Authors)

  1. ผู้นิพนธ์ต้องรับรองว่าผลงานที่ส่งมานั้นเป็นผลงานใหม่และไม่เคยตีพิมพ์ หรือเผยแพร่ที่ใดมาก่อน รวมถึงไม่อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาตีพิมพ์ที่ใด
  2. ผู้นิพนธ์ต้องไม่คัดลอกผลงานของผู้อื่น และต้องมีการอ้างอิงผลงานของผู้อื่น หากมีการนำข้อความใด ๆ มาใช้ในผลงานของตนเอง พร้อมกับต้องทำรายละเอียดเอกสารอ้างอิงไว้ท้ายบทความ
  3. ผู้นิพนธ์ต้องเขียนบทความวิจัยหรือบทความวิชาการให้ถูกต้องตามรูปแบบที่กำหนดไว้ในวารสาร
  4. ผู้นิพนธ์ต้องรายงานผลที่เกิดขึ้นจากการทำวิจัย โดยไม่บิดเบือนข้อมูลหรือให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ
  5. ผู้นิพนธ์ที่มีชื่อปรากฏในบทความทุกคนต้องเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในการดำเนินการวิจัยนี้จริง
  6. ผู้นิพนธ์ต้องระบุแหล่งทุนที่สนับสนุนในการทำวิจัยและระบุผลประโยชน์ทับซ้อน (หากมี)

 

บทบาทหน้าที่ของผู้ประเมินบทความ (Duties of Reviewers)

  1. ผู้ประเมินบทความต้องตระหนักว่าตนเองมีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาของผลงานวิชาการที่รับประเมินอย่างแท้จริงโดยพิจารณาความสำคัญของเนื้อหาและคุณภาพของบทความเป็นหลัก
  2. ผู้ประเมินบทความพิจารณาบทความภายใต้หลักการและเหตุผลทางวิชาการโดยปราศจากอคติหรือความคิดเห็นส่วนตัวมาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินบทความวิจัย และไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้นิพนธ์      
  3. ผู้ประเมินบทความต้องไม่แสวงหาประโยชน์จากผลงานทางวิชาการที่ตนเองได้ทำการประเมิน
  4. หากผู้ประเมินบทความตรวจสอบพบว่าบทความที่รับประเมิน เป็นบทความที่คัดลอกผลงานชิ้นอื่น ๆ ผู้ทรงคุณวุฒิต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบทันที
  5. ผู้ประเมินบทความต้องรักษาระยะเวลาประเมินตามกรอบเวลาประเมินที่กำหนด รวมถึงไม่เปิดเผยข้อมูลของบทความให้ผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับรู้ (Confidentiality)

 

ปรับปรุงจาก

 https://publicationethics.org/files/2008%20Code%20of%20Conduct.pdf
โดย ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (Thai Journal Citation Index Centre)