ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยคัดสรร ภาระการดูแล และคุณภาพชีวิตของญาติผู้ดูแล ผู้ที่ได้รับการล้างไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง

ผู้แต่ง

  • นิพร ขัดตา
  • ขนิตฐา หาญประสิทธิ์คำ
  • อภิญญา ศิริพิทยาคุณกิจ

คำสำคัญ:

ภาระการดูแล, ญาติผู้ดูแล, คุณภาพชีวิต, การล้างไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง

บทคัดย่อ

        การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงบรรยาย มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยคัดสรร ภาระการดูแล และคุณภาพชีวิตของญาติผู้ดูแลผู้ที่ได้รับการล้างไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง โดยนำแนวคิดความสามารถในการดูแลบุคคลที่พึ่งพา (Dependent care agency) มาเป็นกรอบแนวคิดในการศึกษา เลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง จำนวน 85 คน เป็นญาติผู้ดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการล้างไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง ที่เข้ารับการรักษาที่คลินิกไตเสื่อม แผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลลำปาง เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบสอบถามรางวัลที่ได้จากการดูแล แบบสอบถามการสนับสนุนจากครอบครัว แบบวัดภาระการดูแล และแบบวัดคุณภาพชีวิต วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติบรรยาย สถิติสหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน และสถิติสหสัมพันธ์แบบสเปียร์แมน ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีการรับรู้ภาระการดูแลในระดับต่ำถึงปานกลาง และมีคุณภาพชีวิตอยู่ในระดับปานกลาง อายุมีความสัมพันธ์ทางบวกกับภาระการดูแล (r = .479, p < .01) และมีความสัมพันธ์ทางลบกับคุณภาพชีวิต (r = -.334, p < .01) การรับรู้ภาวะสุขภาพมีความสัมพันธ์ทางลบกับภาระการดูแล (r = -.420, p < .01) และมีความสัมพันธ์ทางบวกกับคุณภาพชีวิต (r = .451, p < .01) รางวัลที่ได้จากการดูแลไม่มีความสัมพันธ์กับภาระการดูแล (r = -.185, p > .05) มีความสัมพันธ์ทางบวกกับคุณภาพชีวิต (r = .512, p < .01) การสนับสนุนจากครอบครัวมีความสัมพันธ์ทางลบกับภาระการดูแล (r = -.349, p < .01) และมีความสัมพันธ์ทางบวกกับคุณภาพชีวิต (r = .432, p < .01) ภาระการดูแลมีความสัมพันธ์ทางลบกับคุณภาพชีวิต
(r = -.524, p < .01) และระยะเวลาการดูแลไม่มีความสัมพันธ์กับภาระการดูแลและคุณภาพชีวิต (r = -.042, r = .117, p > .05 ตามลำดับ) ผลการศึกษาครั้งนี้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการจัดโปรแกรมสนับสนุน และส่งเสริมญาติผู้ดูแล ช่วยลดภาระการดูแล และช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของญาติผู้ดูแล

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-12-28