บทบาทที่แท้จริงของกฎหมายสิทธิบัตรกับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในประเทศไทย

Main Article Content

ปุ่น วิชชุไตรภพ

Abstract

บทความวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาแนวความคิดในการให้ความคุ้มครองทางด้านสิทธิบัตรของประเทศกำลังพัฒนา กรณีประเทศไทย และประเทศพัฒนาแล้วเช่นสหรัฐอเมริกา ทั้งยังศึกษาปัญหาและผลกระทบต่าง ๆ จากการที่ไทยได้เข้าร่วมการคุ้มครองกฎหมายสิทธิบัตรในเวทีระหว่างประเทศเพื่อทราบแนวทางในการใช้กฎหมายสิทธิบัตรลดการผูกขาดทางเทคโนโลยี รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายสิทธิบัตรให้มีบทบาทต่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีในประเทศไทยได้อย่างแท้จริง ผลจากการศึกษาพบว่า แนวความคิดของกฎหมายสิทธิบัตรในประเทศกำลังพัฒนานั้นแตกต่างจากประเทศที่พัฒนาแล้วโดยสิ้นเชิง โดยประเทศกำลังพัฒนาได้มีแนวคิดที่ต้องการส่งเสริมให้เกิดการประดิษฐ์ของคนในชาติและมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่แท้จริง ซึ่งเป็นมุมมองในเรื่องผลประโยชน์คนในชาติที่จะได้รับจากการมีกฎหมายสิทธิบัตร ตรงกันข้ามกับประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งมองว่าการมีกฎหมายสิทธิบัตรที่เข้มงวดจะส่งผลให้เกิดการค้า การลงทุนที่เพิ่มขึ้นไปสู่ประเทศกำลังพัฒนา ฉะนั้น ประเทศพัฒนาจึงมีการบังคับใช้กฎหมายสิทธิบัตรที่เป็นสากลโดยใช้มาตรการต่างๆกดดันให้ประเทศกำลังพัฒนารวมถึงไทยให้ต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรอยู่ตลอดเวลา โดยมีสหรัฐฯเป็นแกนนำจัดตั้งองค์กรต่าง ๆ เพื่อเป็นเวทีเจรจากฎหมายสิทธิบัตรระหว่างประเทศ ซึ่งความจริงแล้ว การมีกฎหมายสิทธิบัตรที่เข้มงวดจะส่งผลให้ระบบสิทธิบัตรถูกใช้เป็นเครื่องมือปิดกั้นการเข้าถึงเทคโนโลยี สร้างอุปสรรคในการถ่ายทอดเทคโนโลยี ทำให้เกิดการผูกขาด สินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการจดสิทธิบัตรจึงมีราคาแพง ทั้งยังก่อให้เกิดการฉกฉวยทรัพยากรทางชีวภาพและภูมิปัญญาของท้องถิ่นในประเทศกำลังพัฒนาอีกด้วย ดังนั้น ข้อเสนอแนะ ได้แก่ 1. ควรออกมาตรการควบคุมราคาสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการจดสิทธิบัตร โดยการจัดตั้งองค์กรหนึ่งเข้ามาดูแล เพื่อเป็นการป้องกันมิให้มีการกำหนดสินค้าที่สูงเกินไป อาจทำได้โดยประเทศกำลังพัฒนารวมตัวกันจัดตั้งองค์กรขึ้นควบคู่ไปกับมาตรการลดภาษีการนำเข้า 2. เร่งออกกฎหมายคุ้มครองทรัพยากรทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยอาจจะมีการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างกัน ในกรณีที่ประเทศที่พัฒนาแล้วเข้ามาวิจัยและพัฒนาจะต้องจ่ายค่าตอบแทนให้กับประเทศเจ้าของด้วยหรือการเป็นเจ้าสิทธิบัตรร่วม 3. ออกมาตรการที่จะช่วยลดการผูกขาดและทำให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างแท้จริง โดยการให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศเจ้าของเทคโนโลยีที่ยอมลดเงื่อนไขข้อจำกัดในการทำสัญญาถ่ายทอดเทคโนโลยี ให้กับกิจกรรมการลงทุนอื่น ๆ ที่เข้ามาลงทุนในนามของประเทศนั้น ๆ ทุกกิจกรรม ทุกบรรษัท และ 4. ปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาของไทยเพื่อเร่งสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อที่จะมีนักวิจัยเพิ่มขึ้นในอนาคต อันจะเป็นการลดการผูกขาดทางเทคโนโลยีได้อย่างแท้จริง

Article Details

Section
Articles