การวิเคราะห์นโยบายสาธารณะด้านการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์: ศึกษาเฉพาะกรณีนโยบายเกี่ยวกับกลุ่มวัยรุ่น Social Development and Human Security Policy Analysis: A Case Study of Adolescence Policy

Main Article Content

สุรสิทธิ์ วชิรขจร
จักรกฤษณ์ นรนิติผดุงการ
สากล จริยวิทยานนท์
จิรพร บูรณสิน

Abstract

        การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาพฤติกรรมของวัยรุ่นไทยในปัจจุบัน 2) ศึกษาแนวคิด นโยบาย แผนงาน โครงการ และการปฏิบัติของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายข้าราชการ 3) ศึกษาเปรียบเทียบสภาพปัญหา แนวคิด นโยบาย แผนงาน โครงการ และการปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาวัยรุ่นของประเทศในภูมิภาคอื่นๆ และ 4) นำผลของการศึกษาวิเคราะห์มาจัดทำข้อเสนอเกี่ยวกับการพัฒนานโยบายสาธารณะเกี่ยวกับวัยรุ่นที่เหมาะสม ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้อาศัยข้อมูลจากผลงานวิชาการ เอกสารวิจัย วิทยานิพนธ์ หนังสือพิมพ์ วารสาร หนังสือราชการ กฎหมาย ระเบียบ ตลอดจนเอกสารนโยบาย แผนงาน โครงการ และรายละเอียดขอบเขตการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผลการศึกษาดูงานจากต่างประเทศ ประกอบกับการระดมสมองจากกลุ่มผู้เกี่ยวข้องฝ่ายต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและในภูมิภาค 4 ภาคโดยเจาะจงภาคละ 2 จังหวัด พร้อมทั้งได้ใช้แบบสอบถาม เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล ซึ่งผลการศึกษาโดยสรุป พบว่า ปัญหาพฤติกรรมวัยรุ่นที่ปรากฏมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ปัญหาวัฒนธรรมเลียนแบบ รองลงมาได้แก่ ปัญหาความรุนแรง ปัญหาพฤติกรรมทางเพศ การติดสารเสพติด และการใช้เทคโนโลยีอย่างไม่เหมาะสม และพบปัญหาเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะและการปฏิบัติ ได้แก่ ปัญหาการกำหนดคุณสมบัติที่พึงประสงค์ของเด็กและวัยรุ่นตามนโยบายแห่งชาติและแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนระยะยาว (พ.ศ. 2545 - 2554) ไม่ชัดเจน รัฐบาลไม่มีการกำหนดนโยบายเชิงรุก เน้นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า การกำหนดนโยบายเป็นการกำหนดนโยบายจากเบื้องบน โครงสร้างของหน่วยงานที่รับผิดชอบขาดเอกภาพ และขาดการมีส่วนร่วมจากวัยรุ่นและผู้ปกครอง

    สำหรับข้อเสนอแนะจากผลการวิจัยครั้งนี้ ประกอบด้วย 1) ควรมีการยกฐานะของสำนักส่งเสริมและพิทักษ์เยาวชน และสำนักส่งเสริมและพิทักษ์เด็กให้เป็นหน่วยงานระดับกรมเพื่อให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้น 2) ควรมีการบูรณาการนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้เหลือเพียงนโยบายหรือแผนยุทธศาสตร์หลักเพียงแผนเดียว 3) ควรมีการส่งเสริมบทบาทของหน่วยการปกครองส่วนท้องถิ่นให้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาวัยรุ่น 4) ควรมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการดำเนินงานโดยอาศัยแนวคิดด้านการตลาดจากภาคเอกชนมาใช้ 5) ควรมีการรณรงค์ในเชิงกว้างเพื่อสร้างความตระหนักและการยอมรับให้เกิดขึ้นกับผู้เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วน 6) โครงการสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดซึ่งถือเป็นการเปิดพื้นที่ให้แก่วัยรุ่นและเยาวชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาควรได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจัง 7) รัฐควรให้โอกาสวัยรุ่นที่กระทำผิดหรือเกิดความผิดพลาดในชีวิตให้มีโอกาสอยู่ในสังคมได้ 8) รัฐควรจัดให้มีโครงการหรือช่องทางที่จะรับฟังเสียง (ความคิดเห็น)จากวัยรุ่นหรือสร้างช่องทางเพื่อกระตุ้นเตือนหรือให้ความรู้แก่วัยรุ่นในเรื่องต่างๆ 9) ควรมีการสั่งการให้จังหวัดทุกจังหวัดวิเคราะห์ หรือ X-ray ปัญหาของตนอย่างจริงจัง

Article Details

Section
Articles