ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก ของประชาชนบ้านหนองอีเบ้า ตำบลขอนยูง อำเภอกุดจับ จังหวัดอุดรธานี

ผู้แต่ง

  • Ratchadakon Meekhun Meekhun โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านขอนยูง
  • Kannika Saliach โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านขอนยูง
  • Chonlakarn Songsri วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุดรธานี

บทคัดย่อ

การวิจัยในครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงสำรวจแบบภาคตัดขวาง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกของประชาชนบ้านหนองอีเบ้า ตำบลขอนยูง อำเภอกุดจับ จังหวัดอุดรธานี กลุ่มตัวอย่าง 274 คน ใช้แบบสอบถามมาตรวัด 4 ระดับ มีค่าความเชื่อมั่น เท่ากับ 0.97 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา และสหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน ผลการศึกษา พบว่า ส่วนมากเป็นเพศหญิง (56.90%) การศึกษาระดับประถมศึกษา (61.30%) ประกอบอาชีพเกษตรกร (69.70%) มีประวัติการเจ็บป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก (14.60%) เคยได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข/อสม. (97.10%) ได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกจาก อสม. (92.30%) ในภาพรวมพบว่ามีปัจจัยนำ ปัจจัยเอื้อ ปัจจัยเสริม และพฤติกรรมการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกในระดับสูง (69.30%, 86.90%, 76.60% และ 76.30%) การศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก พบว่าปัจจัยนำคือความรู้ (r=-0.148, p=0.014) ทัศนคติ (r=0.184, p=0.002) มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ปัจจัยเอื้อคือความพอเพียงของทรัพยากร (r=0.556, p<0.001) การมีทักษะในการใช้ทรัพยากร (r=0.788, p<0.001) ปัจจัยเสริมคือการได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข/อสม. มีความสัมพันธ์เชิงบวก (r=0.680, p<0.001) และปัจจัยนำคือการรับรู้เกี่ยวการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกไม่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-08-31