การวิเคราะห์ประสิทธิภาพเชิงเทคนิคของการผลิตข้าวในจังหวัดนครราชสีมา

ผู้แต่ง

  • ชคัตตรัย รยะสวัสดิ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

คำสำคัญ:

ประสิทธิภาพเชิงเทคนิค, ปัจจัยการผลิต, การผลิตข้าว

บทคัดย่อ

การวิเคราะห์ประสิทธิภาพเชิงเทคนิคของการผลิตข้าวในจังหวัดนครราชสีมามีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาข้อมูลทั่วไปทางสังคม ภาวะเศรษฐกิจครัวเรือน การผลิตและการจำหน่วยผลผลิตข้าว วิเคราะห์ต้นทุนและผลตอบแทนการผลิตข้าวและศึกษาประสิทธิภาพเชิงเทคนิคการผลิตข้าวของเกษตรกรในจังหวัดนครราชสีมา กลุ่มเป้าหมายคือตัวแทนครัวเรือนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิในจังหวัดนครราชสีมา ปีเพาะปลูก พ.ศ. 2558-2559 ใช้วิธีสุ่มตัวอย่างง่ายแบบไม่ใส่คืน ได้จำนวน 400 ตัวอย่าง เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยแบบสอบถามซึ่งผ่านการตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือแล้วมีค่า IOC เท่ากับ 0.87 วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณการวิเคราะห์ต้นทุนและผลตอบแทนการผลิตใช้สถิติพื้นฐาน ได้แก่ ค่าเฉลี่ย และร้อยละ รวมทั้งการวิเคราะห์ประสิทธิภาพเชิงเทคนิคโดยประมาณค่าสมการพรมแดนการผลิตในรูปของ Cobb-Douglas Stochastic Production Function ที่แปลงให้อยู่ในรูป Natural Logarithm และปัจจัยที่มีผลต่อความด้อยประสิทธิภาพการผลิตข้าว ผลการวิจัยพบว่า มีการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยการผลิต 4 ชนิด คือ ปริมาณเมล็ดพันธุ์ ส่งผลต่อปริมาณผลผลิตข้าวที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 99 การทำนาในเขตพื้นที่ชลประทานส่งผลต่อปริมาณผลผลิตข้าวที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95 จำนวนแรงงานที่ใช้ในการผลิต และการทำนาดำส่งผลต่อปริมาณผลผลิตข้าวที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 90 ส่วนปริมาณปุ๋ยเคมี ปริมาณสารเคมีป้องกันและกำจัดวัชพืช และการใช้ปุ๋ยอื่น ๆ ได้แก่ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยชีวภาพ และฮอร์โมนบำรุง ส่งผลต่อปริมาณผลผลิตข้าวที่ระดับความเชื่อมั่นต่ำกว่าร้อยละ 90 ทั้งนี้เกษตรกรส่วนใหญ่ ร้อยละ 83.00 มีประสิทธิภาพเชิงเทคนิคการผลิตเฉลี่ยร้อยละ 91.67 สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อความด้อยประสิทธิภาพเชิงเทคนิคการผลิตข้าว พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงเพียง 1 ปัจจัยเท่านั้นที่ส่งผลต่อความด้อยประสิทธิภาพ คือ พื้นที่ในการปลูกข้าวทั้งหมด โดยส่งผลต่อความด้อยประสิทธิภาพที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95 มีค่าสัมประสิทธิ์เท่ากับ 0.02 แสดงว่า หากเกษตรกรเพิ่มพื้นที่การปลูกข้าวร้อยละ 1 จะส่งผลให้ความด้อยประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น 0.02 ดังนั้น การให้ความสำคัญในการค้นหาวิธีการ ลดต้นทุนค่าแรงงาน ลดการใช้ปุ๋ยเคมีระยะยาว และพัฒนาระบบชลประทานให้มีประสิทธิภาพจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

References

พิมพ์ชนก ทนะวัง, มาฆะสิริ เชาวกุล และ สัมพันธ์ เนตยานันท์. (2559). ศึกษาการวิเคราะห์ประสิทธิภาพการผลิตข้าวของเกษตรกรในพื้นที่รับประโยชน์เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนด้วยข้อมูล panel data ปีเพาะปลูก 2551, 2553 และ 2555. วารสารบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร, 11(1), 122-137.
ศรัญญา อุตรพงศ์. (2556). การวิเคราะห์ประสิทธิภาพทางเทคนิคของการผลิตข้าวในอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่. ใน การประชุมวิชาการและนำเสนอผลงานวิจัย ระดับชาติและนานาชาติ ครั้งที่ 6 วารสารบทคัดย่อ กลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, 464-472.
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร. (2559). ข้อมูลการเกษตร. กรุงเทพมหานคร : กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.
สำนักงานเกษตรจังหวัดนครราชสีมา. (2559). ครัวเรือนเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวหอมมะลินาปีในจังหวัดนครราชสีมา ปีเพาะปลูก พ.ศ. 2558-2559. นครราชสีมา : สำนักงานเกษตรนครราชสีมา.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-05-01