Human Rights, Thai Law and Law Enforcement

Main Article Content

พันตำรวจโท สมเกียรติ เกียรติเลขากุล

Abstract

บทความนี้ได้นำเสนอหลักสิทธิมนุษยชน กฎหมายไทย และการบังคับใช้กฎหมายในส่วน ของเจ้าพนักงานตำรวจที่เกี่ยวข้องและสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีข้อพึงระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ หากกระทำการอันกระทบต่อสิทธิของบุคคลอื่น จะต้องมีอำนาจตามกฎหมายรองรับเท่านั้น การบังคับใช้กฎหมายต้องกระทำเท่าที่จำเป็นในวิถีทางที่น้อยที่สุด และต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล บุคคลที่มีสถานภาพอันอ่อนแอ เช่น เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ หรือผู้ด้อยโอกาสในสังคม ควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ การขับเคลื่อนระบบการบังคับใช้กฎหมายไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ด้วยหน่วยงานใดเพียงลำพัง หากแต่ต้องบูรณาการตั้งแต่ระดับนโยบายรัฐบาล หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย องค์กรอิสระ องค์กรเอกชน และประชาชนคนไทย ดำเนินการไปตามบทบาทหน้าที่อย่างถูกต้องเหมาะสม เปิดรับความเห็นต่างช่วยเหลือเกื้อกูลกันออกแบบพัฒนาระบบงานในกระบวนการยุติธรรมที่เหมาะสมกับสังคมไทย การบังคับใช้กฎหมายนั้นยังคงมีความจำเป็นที่ต้องดำเนินการเพื่อการรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม แต่ต้องมีกระบวนการที่ปฏิบัติอย่างถูกต้อง เหมาะสม และอำนวยความยุติธรรม การบังคับใช้กฎหมายนอกจากใช้หลักนิติศาสตร์แล้วยังต้องพิจารณาคำนึงถึงหลักการบังคับใช้กฎหมายประการอื่นที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนทุกมิติ ประมวลพระบรมราโชวาทเป็นแนวทางสำคัญยิ่งซึ่งประกอบด้วยหลักการ แง่มุมในการบังคับใช้กฎหมายที่ลึกซึ้งละเอียดอ่อน ทั้งมาตรการที่เฉียบคมและยืดหยุ่นอะลุ่มอล่วย เช่น “การปฏิบัติตรงตามกฎหมายทั้งหมดไม่ได้ จะต้องคำนึงถึงหลักนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ไปพร้อมกัน” “เป็นความผิดทางราชการที่ไม่สามารถจะนำกฎหมายไปให้ถึงประชาชน” “กฎหมายจะธำรงความยุติธรรมและความถูกต้องเที่ยงตรง ขึ้นอยู่กับการใช้ที่ถูกต้องตามวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์” “กฎหมายเป็นแต่เพียงบทบัญญัติที่ตราไว้เพื่อรักษาความยุติธรรม ผู้ใดประพฤติปฏิบัติด้วยความสุจริตแล้ว ควรจะได้รับความคุ้มครองจากกฎหมาย” “การถือโอกาสในการมีช่องโหว่ของกฎหมายเพื่อการทุจริตนั้น เป็นสิ่งที่เลวทราม และกฎหมายต้องอาศัยกฎเกณฑ์ที่ถูกต้อง” ประชาชนคนไทยทุกคนและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้กฎหมายควรศึกษาเรียนรู้อย่างลุ่มลึก และน้อมนำมาปรับใช้สำหรับการบังคับใช้กฎหมายในมิติมุมมองใหม่ที่ถูกต้องกว้างขวางขึ้น


ประเด็นสำคัญที่น่าสนใจในการบังคับใช้กฎหมายก็คือ “เจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมายจะต้องปฏิบัติอย่างไรเพื่อให้ผู้ถูกบังคับใช้ได้รับความถูกต้องและเป็นธรรม” ผู้เขียนเห็นว่าการบังคับใช้กฎหมาย ยังคงมีความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงมิได้ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม แต่พึงกระทำด้วยความระมัดระวังละเอียดรอบคอบ ซึ่งผู้บังคับใช้กฎหมายต้องกระทำอย่างถูกต้องเหมาะสม ไม่แข็งกระด้างหรืออ่อนแอเกินไป จึงต้องค้นหาจุดร่วมสายกลางที่สมดุล คือ


(1) หลักนิติรัฐ ซึ่งเป็นการปกครองโดยกฎหมาย รัฐเสรีประชาธิปไตยยอมรับรองและ ให้ความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นมูลฐานของประชาชน ได้แก่ สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลโดยแท้ เช่น สิทธิเสรีภาพในชีวิต ร่างกาย เคหสถาน การติดต่อสื่อสารถึงกันและกัน การเดินทางการเลือกถิ่นที่อยู่ การนับถือศาสนา ครอบครัว สิทธิเสรีภาพในทางเศรษฐกิจ เช่น สิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพ การมีและใช้ทรัพย์สิน การทำสัญญา สิทธิและเสรีภาพในการมีส่วนร่วมทางการเมือง เช่น สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง การรวมตัวกันเป็นสมาคมหรือพรรคการเมือง การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งและสมัครรับเลือกตั้ง รัฐจะต้องธำรงรักษาไว้ซึ่งประโยชน์ส่วนรวมหรือประโยชน์สาธารณะ ในบางกรณีรัฐจำต้องบังคับให้ราษฎรกระทำการหรือละเว้นไม่กระทำการบางอย่าง โดยองค์กรหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถล่วงล้ำเข้าไปในขอบเขตสิทธิเสรีภาพของราษฎร แต่รัฐต้องให้คำมั่นต่อราษฎรว่าองค์กรเจ้าหน้าที่ของรัฐจะกล้ำกรายสิทธิเสรีภาพ ของราษฎรได้ ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งและเป็นการทั่วไปว่าให้องค์กรหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ กล้ำกรายสิทธิเสรีภาพของราษฎรได้ในกรณีใดและภายในขอบเขตอย่างไร


(2) หลักรัฐศาสตร์ รัฐเป็นกลไกในการปกครองประเทศ มีสถานภาพในทางกฎหมายที่มีอำนาจเหนือทุกคนในเรื่องการเมืองการปกครอง โดยอาศัยกฎเกณฑ์ของกฎหมายเป็นเครื่องกำหนดกับศาสตร์ แห่งอำนาจ ซึ่งเป็นเรื่องของการศึกษาพฤติกรรม การแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง โดยคำนึงถึงเรื่องดินแดน ประชากร รัฐบาล และอำนาจอธิปไตย


(3) ฟื้นฟูส่งเสริมพัฒนาวิถีชาวบ้าน ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี ศีลธรรมจรรยา และหลักศาสนาอันดีงามที่เป็นรากเหง้าของผู้คนในสังคม ซึ่งกลุ่มชนในสังคมได้ร่วมกันสร้างสรรค์ สั่งสม ปลูกฝัง สืบทอด เรียนรู้ นำไปสู่พัฒนาการในการดำเนินชีวิตด้วยความคิด ความเชื่อ ค่านิยม และภูมิปัญญา กำหนด ให้เป็นนโยบายและแผนแม่บทวัฒนธรรมของชาติ มีกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับที่ชัดเจน เชื่อมประสาน ความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานของรัฐ เอกชน ประชาชน ค้นหารูปแบบวิธีการปลูกฝังไว้ในจิตใจ ของประชาชนคนไทยโดยให้ความสำคัญมุ่งเน้นตั้งแต่วัยเด็ก หากสังคมใดมีสิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิตประจำวัน ก็ชี้ชัดได้เลยว่าสังคมนั้นย่อมมีฐานรากของความสงบสุขอย่างแท้จริง


การบังคับใช้กฎหมายในแต่ละครั้ง ผู้บังคับใช้กฎหมายจึงต้องคำนึงถึงหลักนิติรัฐ หลักรัฐศาสตร์ และหลักการอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ศีลธรรมจรรยา การอำนวยความยุติธรรมประกอบกันด้วย ประเด็นที่สำคัญ เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันก็คือการฟื้นฟูส่งเสริมพัฒนาวิถีชาวบ้าน ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี ศีลธรรมจรรยา และหลักศาสนา หากสิ่งดีงามเหล่านี้เกิดขึ้นและดำรงคงอยู่ในสังคมไทย ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายก็จะลดน้อยลง ถึงแม้ว่าเป็นการยากยิ่งที่จะสร้างสรรค์สิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้น แต่ยังไงก็ตามสังคมไทยยังคง มีความจำเป็นอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องร่วมมือกันขับเคลื่อน สร้างเสริม บ่มเพาะ ตั้งแต่ระดับปัจเจกบุคคล ครอบครัว ญาติ มิตร ละแวกบ้าน โรงเรียน สถานศึกษา ชุมชน และระดับประเทศ เพื่ออนาคตที่ดีของลูกหลานคนไทยในภาคหน้า

Article Details

How to Cite
เกียรติเลขากุล พ. ส. (2018). Human Rights, Thai Law and Law Enforcement. Rajapark Journal, 12(25), 194–213. Retrieved from https://so05.tci-thaijo.org/index.php/RJPJ/article/view/121543
Section
Research Article

References

กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ. (2551). ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2560, จากhttps://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/ book.pdf.

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. (2560). พระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2560, จาก https://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%A481/ %A481-20-2542-a0001.pdf.

กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม. (2560). บทสรุปสำหรับผู้บริหาร วาระแห่งชาติ : สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน. สืบค้นเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2560, จาก https://www.rlpd.go.th/rlpdnew/index.php.

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ. (2554). กฎ ก.ตร. ว่าด้วยประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณของตํารวจ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๓. สืบค้นเมื่อวันที่ 25 เมษายน ๒๕60, จาก https://www.jaray.police.go.th/ 2014/pdf/14.PDF.

กลุ่มแผนงานและงบประมาณ กระทรวงวัฒนธรรม. (2556). พระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๓. สืบค้นเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2560, จาก https://www.m-culture.go.th/plan/more_news.php?cid=11.

กระทรวงวัฒนธรรม. (2559). กรอบทิศทางยุทธศาสตร์ด้านวัฒนธรรม ตามกรอบทิศทางยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี. สืบค้นเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2560, จาก https://www.m-culture.go.th/th/ ewt_dl_link.php?nid=7162.

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. (2560). รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560. สืบค้นเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2560, จาก https://web.krisdika.go.th/data/law/law1/%c306/%c306-10-2560-a0003.pdf.

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. (2551). ประมวลพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เกี่ยวกับกฎหมาย. สืบค้นเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2560, จาก https://web.krisdika.go.th/data/ serve/tha/acknowledge/acknowledge_26_files/frame.htm.

บุญแทน มะลิอ่อง. (2554). หลักธรรมในพระพุทธศาสนาเถรวาทกับการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน. พุทธศาสตรมหาบัณฑิต (พระพุทธศาสนา). มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. สืบค้นเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2560, จาก https://www.mcu.ac.th/site/thesiscontent_desc.php?ct=1&t_id=826.