วุฒิภาวะทางอารมณ์ของผู้ต้องขังที่กระทำผิดซ้ำในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร

Main Article Content

พัทรา เจริญสิทธิ์
เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล
อายุตม์ สินธพพันธุ์
ฐนันดร์ศักดิ์ บวรนันทกุล

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับวุฒิภาวะทางอารมณ์ของผู้ต้องขังที่กระทำผิดซ้ำโดยศึกษาความสัมพันธ์ของบุคลิกภาพของผู้ต้องขังที่กระทำความผิดซ้ำกับระดับวุฒิภาวะทางอารมณ์ของผู้ต้องขังที่กระทำความผิดซ้ำ และศึกษาปัจจัยที่สัมพันธ์กับระดับวุฒิภาวะทางอารมณ์ของผู้ต้องขังที่กระทำผิดซ้ำในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ใช้การศึกษาวิจัยเชิงปริมาณ และใช้แบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นเป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูล กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ต้องขังที่เป็นนักโทษเด็ดขาดซึ่งกระทำผิดซ้ำตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร จำนวน 265 คน วิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติโดยการแจกแจงความถี่ ค่าอัตราส่วนร้อยละ ค่าเฉลี่ยเลขคณิต ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์เปรียบเทียบทดสอบค่าที (t-test) วิเคราะห์ความแปรปรวน ( Analysis of Variance : ANOVA) และ ทดสอบความสัมพันธ์โดยใช้ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน (Pearson Correlation)


ผลการวิจัยพบว่า ระดับวุฒิภาวะทางอารมณ์ของผู้ต้องขังที่กระทำความผิดซ้ำทุกด้านในภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับสูง และบุคลิกภาพในทุกด้านมีความสัมพันธ์กับระดับวุฒิภาวะทางอารมณ์ในทิศทางบวก โดยบุคลิกภาพด้านเข้ากับผู้อื่นได้ดี มีค่าเฉลี่ยสูงสุด และมีความสัมพันธ์กับวุฒิภาวะทางอารมณ์ของผู้ต้องขังที่กระทำความผิดซ้ำมากที่สุด ส่วนผลการศึกษาเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างผู้ต้องขังกระทำความผิดซ้ำที่เคยใช้และไม่เคยใช้ยาเสพติด พบว่า ผู้ต้องขังกระทำความผิดซ้ำที่เคยใช้ยาเสพติด มีระดับวุฒิภาวะทางอารมณ์แตกต่างกับผู้ต้องขังกระทำความผิดซ้ำที่ไม่เคยใช้ยาเสพติด โดยผู้ต้องขังกระทำความผิดซ้ำที่ไม่เคยใช้ยาเสพติดจะมีระดับวุฒิภาวะทางอารมณ์สูงกว่าผู้ต้องขังที่เคยใช้ยาเสพติด ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05 และ ผู้ต้องขังที่มีประเภทของการกระทำความผิดแตกต่างกันมีระดับวุฒิภาวะทางอารมณ์แตกต่างกัน ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05 โดยพบว่า ผู้ต้องขังที่กระทำความผิดซ้ำในคดีที่รุนแรงขึ้นมีระดับวุฒิภาวะทางอารมณ์แตกต่างกับผู้ต้องขังที่กระทำความผิดซ้ำหลายคดี


ข้อเสนอแนะจากการศึกษาได้แก่ ทางเรือนจำควรจัดโครงการหรือกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมหรือพัฒนาวุฒิภาวะทางอารมณ์ของผู้ต้องขังในกลุ่มที่พบว่ามีวุฒิภาวะทางอารมณ์ต่ำกว่าปกติ โดยเป็นกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาจิตใจและวุฒิภาวะทางอารมณ์ของผู้ต้องขัง และควรมีการศึกษาถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อการกระทำความผิดซ้ำในคดีที่รุนแรงขึ้นของผู้ต้องขัง

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

1. กรมสุขภาพจิต. (2543). อีคิว: ความฉลาดทางอารมณ์. นนทบุรี: สำนักพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต.

2. คมชัดลึก. (2558). ดัชนีชี้วัดกระบวนการยุติธรรมไทย (JUSTICE INDEX). 14 พฤษภาคม 2559. https://www.komchadluek.net/news/detail/213449.

3. จิรา สง่าพันธ์. (2549). ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังชายคดีที่เกี่ยวข้องกับยาบ้า : ศึกษาเฉพาะกรณีผู้ต้องขังในทัณฑสถานบำบัดพิเศษพระนครศรีอยุธยา. ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (จิตวิทยาชุมชน), มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. กรุงเทพฯ.

4. ชาญคณิต กฤตยา สุริยะมณี. (2554). ทฤษฏีอาชญาวิทยาร่วมสมัยกับการวิจัยทางด้านอาชญาวิทยาในปัจจุบัน. พิมพ์ครั้งที่1. นนทบุรี: หยินหยางการพิมพ์.

5. นพมาศ อุ้งพระ (ธีรเวคิน). (2555). จิตวิทยาสังคม. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

6. นุชนาฏ มุกุระ. (2554). ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการกระทำผิดซ้ำในคดียาเสพติดของผู้ต้องขังเรือนจำกลางเชียงใหม่. ปริญญารัฐประศาสนศาตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. เชียงใหม่.

7. พรชัย ขันตี. (2553). ทฤษฎีอาชญาวิทยา : หลักการ งานวิจัย และนโยบายประยุกต์. กรุงเทพฯ: สุเนตร์ฟิล์ม.

8. วรดา วสันต์นันทสิริ พรพรรณ ศิลปวัฒนาพร และสิริประภา แก้วศรีนวล. (2552). รายงานการศึกษาวิจัยเรื่อง ปัจจัยทางจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับการถูกต้องโทษจำคุกและการถูกลงโทษทางวินัย. นนทบุรี: กรมราชทัณฑ์.

9. วินัย เจริญเฉลิมศักดิ์. (2557). คุกคุ้มครองเหยื่ออาชญากรรม หรือแนวคิดในการคุ้มครองเหยื่ออาชญากรรมของกรมราชทัณฑ์ในต่างประเทศ. 9 พฤษภาคม 2560. https://www.correct.go.th/blogknowledge/attachments.

10. ศรีเรือน แก้วกังวาล. (2558). ทฤษฎีจิตวิทยาบุคลิกภาพ (รู้เรา รู้เขา). พิมพ์ครั้งที่ 16. กรุงเทพฯ: หมอชาวบ้าน.

11. สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (2552). การศึกษาองค์ความรู้เกี่ยวกับคุณลักษณะของคนไทยที่พึงประสงค์ : ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Quotient : EQ). กรุงเทพฯ: สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ.

12. สำนักวิจัยและพัฒนาระบบงานราชทัณฑ์. (2556). ปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ต้องขังกระทำผิดซ้ำ. นนทบุรี: กรมราชทัณฑ์.

13. สิน พันธุ์พินิจ. (2554). เทคนิคการวิจัยทางสังคมศาสตร์. กรุงเทพฯ : วิทยพัฒน์.

14. สุดสงวน สุธีสร. (2554). อาชญาวิทยา. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

15. สุธาสินี ดอกชะเอม. (2552). ปัจจัยทางสังคมที่มีผลต่อการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังในเรือนจำจังหวัดสุพรรณบุรี. ปริญญาสังคมสงเคราะห์ศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. กรุงเทพมหานคร.

16. อัจฉรียา ชูตินันทน์. (2555). อาชญาวิทยาและทัณฑวิทยา. กรุงเทพฯ: วิญญูชน.

17. Ahmed M. Megreya. (2015). Emotional Intelligence and Criminal Behavior. Joural of Forensic Sciences, 60(1), 84-88.

18. Neelu Sharma, Om Prakash, K. S. Sengar, Suprakash Chaudhury, and Amool R. Singh. (2015). The relation between emotional intelligence and criminal behavior: A study among convicted criminals. Industrail Psychiatry Journal, 24(1), 54-58.

19. Oluyemi Adetunji Stephens and Norma M. Nel. (2014). Recidivism and Emotional Intelligence of Male Recidivists in Lagos State, Nigerria. Psychology Journal, 5(2), 115-124.