การวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาครูในการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร สังกัดสำนักงานเขต พื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 22

Main Article Content

ประสาน สุคำภา

Abstract

การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อ 1) ศึกษาสภาพปัจจุบัน ปัญหาและความต้องการในการจัดการเรียนรู้แบบโครงงานของครูโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร 2) หาแนวทางการพัฒนาครูในการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน 3) ติดตามและประเมินผลการพัฒนาครูในการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน โดยใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการ 4 ขั้นตอนคือ การวางแผน การปฏิบัติการการสังเกตการณ์ และการสะท้อนกลับ ดำเนินการวิจัยเป็น 2 วงรอบ กลุ่มเป้าหมายการวิจัยคือครูกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์21 คน ผู้ให้ข้อมูลเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2554 วิทยากรและผู้นิเทศ รวมผู้ให้ข้อมูล 41 คน เครื่องมือวิจัยได้แก่ แบบทดสอบ แบบประเมิน แบบสังเกต และแบบสัมภาษณ์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่าดัชนีประสิทธิผล การตรวจสอบข้อมูลเชิงคุณภาพ ได้วิเคราะห์เนื้อหาแล้วนำเสนอข้อมูลเชิงพรรณาผลการวิจัยพบว่า

1. สภาพปัจจุบัน พบว่าครูบางส่วนยังจัดกิจกรรมการเรียนรู้เน้นการบรรยายเป็นหลัก ขาดการฝึกให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง สอนตามแบบเรียนมากกว่ายึดนักเรียนเป็นสำคัญ ไม่ส่งเสริมให้นักเรียนคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และประยุกต์เอาความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน เกิดจากปัญหาครูขาดความรู้ ความเข้าใจและทักษะในการจัดการเรียนรู้ และครูกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์มีความตระหนักในความสำคัญของการจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ มีความต้องการพัฒนาตนเองให้มีความรู้และทักษะในการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน

2. แนวทางการพัฒนาครูในการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน คือการประชุมเชิงปฏิบัติการและการนิเทศการเรียนรู้ดำเนินการเป็น2 วงรอบโดยวงรอบที่ 1 เป็นการพัฒนาโดยการประชุมเชิงปฏิบัติการและการนิเทศการจัดการเรียนรู้ และวงรอบที่ 2เป็นการพัฒนาโดยการนิเทศแบบการสอนงาน (Coaching) ในการเขียนแผนการเรียนรู้แบบโครงงาน

3. ผลการพัฒนาครูในการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน ในวงรอบที่ 1 ด้านความรู้ ความเข้าใจ พบว่า ก่อนการพัฒนาครูมีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน น้อย โดยมีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 19.48 จากคะแนนเต็ม30 คิดเป็นร้อยละ 64.92 หลังได้รับการพัฒนาแล้ว ครูมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้มากขึ้น โดยมีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 27.19 จากคะแนนเต็ม 30 คิดเป็นร้อยละ 90.63 ดัชนีประสิทธิผลมีค่าเท่ากับ 0.73 ผลการประเมินด้านการเขียนแผนการเรียนรู้ พบว่าในภาพรวมอยู่ในระดับดี และหลังได้รับการพัฒนาในวงรอบที่ 2 พบว่าครูมีความสามารถในการเขียนแผนการเรียนรู้มากขึ้น มีผลการประเมินในภาพรวม อยู่ในระดับดีมาก ในด้านการจัดการเรียนรู้พบว่าครูสามารถจัดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้นักเรียนมีความรู้ มีทักษะ และสามารถจัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์อยู่ในระดับดีมาก

Article Details

Section
บทความวิจัย