ยุทธศาสตร์การพัฒนาการมีส่วนร่วมในการจัดการป่าชุมชนบ้านนาธาตุ เมืองอุทุมพอน แขวงสะหวันนะเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

Main Article Content

บุญยอด นามเสนา

Abstract

            การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อ 1) ศึกษาสภาพปัจจุบันและปัญหาของป่าชุมชนบ้านนาธาตุ เมืองอุทุมพอน แขวง สะหวันนะเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว 2) ศึกษาความต้องการการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการป่าชุมชนบ้านนาธาตุ 3) สร้างยุทธศาสตร์การพัฒนาการมีส่วนร่วมในการจัดการป่าชุมชนบ้านนาธาตุ กลุ่มเป้าหมาย 49 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย มี 2 ประเภท ได้แก่ การสัมภาษณ์เชิงลึก และแบบสอบถาม ชนิดมาตราส่วนประมาณค่า สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน

            ผลการวิจัยพบว่า

                 1. สภาพปัจจุบันและปัญหาของป่าชุมชนบ้านนาธาตุ พบว่า 1) การถูกบุกรุกพื้นที่ป่า มีการลักลอบตัดไม้ ไฟไหม้ป่า มีการเข้าไปถากถางทำนา ทำสวน และพื้นที่ป่ามีสภาพเสื่อมโทรมเป็นที่ตั้งโรงงานแปรรูปไม้เพื่อการค้า 2) ประชาชนในชุมชนบ้านนาธาตุลักลอบตัดไม้มาสร้างเป็นที่อยู่อาศัยหรือซ่อมแซมบ้านเรือนและขายให้กับนายทุน 3) ประชาชนในชุมชนบ้านนาธาตุบุกเบิกพื้นที่ป่าไม้เพื่อใช้ประโยชน์ด้วยการปลูกเป็นสวนยางพารา ปลูกไม้ยูคาลิปตัส มันสำปะหลัง และข้าวโพด เป็นต้น 4) การลักลอบล่าสัตว์ป่าด้วยวิธีการเผาป่า 5) ขาดการนำกลยุทธ์สู่การปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและขาดการวางแผนที่เป็นระบบ ขาดงบประมาณสนับสนุนที่เพียงพอในการดำเนินงาน

                 2. ความต้องการการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการป่าชุมชนบ้านนาธาตุ พบว่า 1) ประชาชนบ้านนาธาตุ ต้องการเป็นผู้ดูแลรักษาป่าเป็นหลักเพราะเป็นผู้ที่อยู่ติดกับป่ารู้ถึงสภาพพื้นที่ป่าดีกว่าคนข้างนอก และเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากป่าและความต้องการให้ภาครัฐเข้าจัดการในเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการหน่วยงานรักษาป่า การเผยแพร่ปลูกจิตสำนึกของประชาชนที่เกี่ยวกับ กฎ ระเบียบ กำหนดขอบเขตพื้นที่ให้ชัดเจน เขตหวงห้าม เขตคุ้มครองนำใช้และติดแผ่นป้าย 2) ประชาชนมีความต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลจัดตั้งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ การออกกฎ ระเบียบการคุ้มครอง กฎหมายกำหนดลาดตะเวน การวางกฎระเบียบรักษาบูรณาการป่าและมีส่วนร่วมในการปลูกป่าร่วมกับภาครัฐ

                 3. ยุทธศาสตร์การพัฒนาการมีส่วนร่วมในการจัดการป่าชุมชนบ้านนาธาตุ คือโครงการอบรมเสริมความรู้เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการจัดการป่าชุมชนซึ่งมีรายละเอียดของโครงการ ประกอบด้วย โครงการ หลักการและเหตุผล เป้าหมาย ตัวชี้วัด งบประมาณ และผลที่ได้รับ

                 4. ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการป่าชุมชนบ้านนาธาตุ โดยรวมอยู่ในระดับมาก (ร้อยละ 81.63 ของคะแนนเต็ม)

Article Details

Section
บทความวิจัย