การพัฒนาการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์โดยใช้ชุดการสอนกับ การเรียนแบบร่วมมือ ที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน คุณธรรม จริยธรรมด้านความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และความพึงพอใจต่อการเรียน ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนธาตุนารายณ์วิทยา

Main Article Content

พัฒนา เครือคำ

Abstract

            การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมาย 1) เพื่อศึกษาสภาพและปัญหาของการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ ชั้นมัธยม ศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนธาตุนารายณ์วิทยา ที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน คุณธรรมจริยธรรมด้านความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และความพึงพอใจต่อการเรียน 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนธาตุนารายณ์วิทยา   ที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน คุณธรรมจริยธรรมด้านความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และความพึงพอใจต่อการเรียน 3) เพื่อศึกษาผลการใช้รูปแบบการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนธาตุนารายณ์วิทยา ต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน คุณธรรมจริยธรรมด้านความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และความพึงพอใจต่อการเรียน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) ชุดการสอนวิชาคณิตศาสตร์ 1 ค 21101 2) แผนการจัดการเรียนรู้ ประกอบการใช้ชุดการสอนกับการเรียนแบบร่วมมือ วิชาคณิตศาสตร์ 1 ค 21101 3) แบบสัมภาษณ์ครูกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์โรงเรียนธาตุนารายณ์วิทยา 4) แบบสอบถามนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่เรียนผ่านวิชาคณิตศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มาแล้ว 5) แบบประเมินพฤติกรรมความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของนักเรียนที่เรียนโดยใช้ชุดการสอนด้วยการเรียนแบบร่วมมือ วิชาคณิตศาสตร์ 1 ค 21101 6) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน วิชาคณิตศาสตร์ 1 ค 21101 เรื่องจำนวนเต็ม 7) แบบวัดความพึงพอใจต่อการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ 1 ที่เรียนโดยใช้ชุดการสอนกับการเรียนแบบร่วมมือ กลุ่มตัวอย่าง การทดลองครั้งที่ 1 ทดลองกับนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1/4 ของปีการศึกษา 2554 จำนวน 47 คน และการทดลองครั้งที่ 2 ทดลองกับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1/1 ของปีการศึกษา 2555 จำนวน 41 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มแบบแบ่งกลุ่ม (Cluster Random Sampling) สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน หาประสิทธิภาพชุดการสอน E1/E2ค่าดัชนีประสิทธิผล (Effectiveness Index : E.I.) วิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-way ANOVA) และสถิติทดสอบค่าที (t-test for Dependent Samples) 

            ผลการวิจัยพบว่า

            1. การศึกษาสภาพและปัญหาการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1

                 1.1 สภาพ การเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 พบว่า นักเรียนที่มาเรียนมาจากต่างอำเภอ มีความสามารถแตกต่างกัน การจัดห้องเรียนเป็นแบบคละความสามารถ ครูคณิตศาสตร์บางคนไม่ได้จบเอกคณิตศาสตร์โดยตรง ครูคณิตศาสตร์ทำหน้าที่ทั้งการสอนและงานพิเศษของทางโรงเรียนทำให้มีเวลาให้กับการสอนไม่เต็มที่

                 1.2 ปัญหาการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ได้แก่ หน่วยการเรียนที่มีปัญหามากที่สุดคือ เรื่องระบบจำนวนเต็มเพราะเป็นพื้นฐานของการเรียนหน่วยอื่นๆ ปัญหาที่เกิดจากตัวครูมากที่สุดคือครูสอนแบบบรรยายยึดครูเป็นศูนย์กลาง ครูไม่ใช้สื่อการสอน สอนโดยไม่แบ่งกลุ่มนักเรียนตามความสามารถ ปัญหาที่เกิดจากตัวนักเรียนมากที่สุดคือนักเรียนไม่สนใจต่อการเรียน เพื่อนหวงความรู้ไม่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

            2. รูปแบบการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนธาตุนารายณ์วิทยา คือเรียนโดยใช้ชุดการสอนกับการเรียนแบบร่วมมือ

            3. ผลการใช้ชุดการสอนกับการเรียนแบบร่วมมือ

                 3.1 ผลการใช้ชุดการสอนกับการเรียนแบบร่วมมือ ครั้งที่ 1 พบว่า

                      3.1.1 ชุดการสอนมีประสิทธิภาพ (E1/E2) เท่ากับ 87.45/75.67 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.01) และมีดัชนีประสิทธิผลเท่ากับ 0.66 หรือคิดเป็นร้อยละ 66

                      3.1.2 ผลการวัดคุณธรรมจริยธรรมด้านความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ก่อนการเรียนกับหลังการเรียน ผลปรากฏว่าก่อนเรียนความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มีค่าเฉลี่ย 3.50 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.62 ซึ่งแปลผลได้ว่านักเรียนมีพฤติกรรมความเอื้อเฟื้อเผื่อเป็นบางครั้งถึงค่อนข้างบ่อย และหลังเรียนมีพฤติกรรมความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เฉลี่ย 4.05 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.83 ซึ่งแปลผลได้ว่านักเรียนมีการปฏิบัติพฤติกรรมความเอื้อเฟื้อเผื่อเป็นค่อนข้างบ่อย

                      3.1.3 ความพึงพอใจต่อการเรียน ผลปรากฏว่านักเรียนมีความพึงพอใจเฉลี่ย 4.20 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.78 ซึ่งแปลผลได้ว่านักเรียนมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก

                 3.2 การพัฒนาการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์โดยใช้ชุดการสอนกับการเรียนแบบร่วมมือ ครั้งที่ 2 พบว่า

                      3.2.1 ชุดการสอนมีประสิทธิภาพ (E1/E2) เท่ากับ 90.49/76.02 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนอย่างมีนัยสำคัญ (p<.01) และมีดัชนีประสิทธิผลมีค่าเท่ากับ 0.59 หรือคิดเป็นร้อยละ 59

                      3.2.2 ผลการวัดคุณธรรมจริยธรรมด้านความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ก่อนการเรียนกับหลังเรียน ผลปรากฏว่าก่อนเรียนนักเรียนมีพฤติกรรมความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เฉลี่ย 3.64 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.23 ซึ่งแปลผลได้ว่านักเรียนมีพฤติกรรมพฤติกรรมความเอื้อเฟื้อเผื่อเป็นบางครั้งถึงค่อนข้างบ่อย และหลังเรียนมีพฤติกรรมความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เฉลี่ย 4.09 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.12 ซึ่งแปลผลได้ว่านักเรียนมีพฤติกรรมความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ค่อนข้างบ่อย

                                    3.2.3 ความพึงพอใจต่อการเรียนโดยใช้ชุดการสอน กับการเรียนแบบร่วมมือ วิชาคณิตศาสตร์ 1 ค 21101 เรื่อง จำนวนเต็ม ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1/1 จำนวน 41 คน ของปีการศึกษา 2555 ผลปรากฏว่านักเรียนมีความ
พึงพอใจเฉลี่ย 4.06 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.80 ซึ่งแปลผลได้ว่านักเรียนมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก     

Article Details

Section
บทความวิจัย