การพัฒนาศักยภาพของคณะกรรมการหมู่บ้าน ในการจัดทำแผนชุมชน กรณีศึกษา บ้านนาอ่าง หมู่ที่ 1 ตำบลนาตาล อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร

Main Article Content

นันทัชพร นามพิกุล

Abstract

            การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อ 1) ศึกษาสภาพปัญหาการจัดทำแผนชุมชน 2) สร้างยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพของคณะกรรมการหมู่บ้าน  3) เปรียบเทียบความรู้ความเข้าใจในการจัดทำแผนชุมชนก่อนและหลังการใช้ยุทธศาสตร์  เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) กลุ่มเป้าหมาย คือ คณะกรรมการหมู่บ้าน  บ้านนาอ่าง หมู่ที่ 1 ตำบลนาตาล อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร จำนวน 11 คน ดำเนินการวิจัยเป็น 4 ขั้นตอน คือ 1) ศึกษาสภาพปัญหา 2) สร้างและวิพากษ์ยุทธศาสตร์ 3) ทดลองใช้ยุทธศาสตร์ และ 4) ถ่ายทอดและเผยแพร่ยุทธศาสตร์ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสัมภาษณ์ การสนทนากลุ่ม แบบประเมินยุทธศาสตร์ และแบบทดสอบความรู้ความเข้าใจ การวิเคราะห์ข้อมูลใช้การวิเคราะห์เนื้อหา ร้อยละ ค่าเฉลี่ยส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบที (t-test) ผลการวิจัยพบว่า สภาพปัญหา สาเหตุเกิดจาก 1) คณะกรรมการหมู่บ้าน ขาดการเรียนรู้ ขาดแรงจูงใจการมีส่วนร่วม ขาดความรู้ความเข้าใจและทักษะ ไม่เห็นความสำคัญและประโยชน์ของแผน อุปกรณ์ บุคลากรไม่เพียงพอ ภารกิจการหาเลี้ยงครอบครัว และ 2) เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ไม่ชี้แจงทำความเข้าใจ
ไม่ร่วมปรึกษาหารือ ชี้นำสภาพปัญหาและดำเนินการเอง ไม่ชำนาญการเป็นวิทยากรกระบวนการ การเบิกจ่ายงบประมาณ
            ยุทธศาสตร์การพัฒนา ประกอบด้วย กระบวนการพัฒนา 4 กระบวนการ คือ 1) การค้นหาปัญหาและสาเหตุปัญหา 2) การหาแนวทางแก้ปัญหา 3) การปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการเชิงกลยุทธ์ และ 4) การติดตามและประเมินผล โดยมีแผนงาน โครงการ กิจกรรม แหล่งงบประมาณ ผู้รับผิดชอบ และระยะเวลาดำเนินการการเปรียบเทียบความรู้ความเข้าใจ คณะกรรมการหมู่บ้านมีความรู้ความเข้าใจในการจัดทำแผนชุมชนหลังการใช้ยุทธศาสตร์การพัฒนาสูงกว่าก่อนการใช้ยุทธศาสตร์การพัฒนา อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

Article Details

Section
บทความวิจัย