การพัฒนารูปแบบการนิเทศภายในที่มีประสิทธิผล สำหรับโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาร้อยเอ็ด เขต 1

Main Article Content

เพิ่มพูล ร่มศรี

Abstract

การพัฒนารูปแบบการนิเทศภายในที่มีประสิทธิผล สำหรับโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาร้อยเอ็ด เขต 1
DEVELOPMENT OF MODEL FOR EFFECTIVE INTERNAL SUPERVISION IN SCHOOLS UNDER THE OFFICE OF ROI-ET PRIMARY EDUCATIONAL SERVICE AREA 1

บทคัดย่อ

            การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาสภาพปัญหา ความต้องการ และแนวทางการนิเทศภายใน เพื่อพัฒนาและศึกษาผลการทดลองใช้รูปแบบการนิเทศภายในที่มีประสิทธิผล สำหรับโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาร้อยเอ็ด เขต 1 แบ่งขั้นตอนการวิจัยเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การศึกษาสภาพปัญหา ความต้องการ และแนวทางการนิเทศภายใน โดยศึกษากับประชากร จำนวน 714 คน แยกเป็น ผู้อำนวยการโรงเรียน 238 คน  รองผู้อำนวยการโรงเรียนหรือหัวหน้าฝ่ายวิชาการ 238 คน  และครูผู้สอน 238 คน สัมภาษณ์กลุ่มกับผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน 15 คน และศึกษาตัวอย่างที่ดี 3 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนบ้านหนองฮีหนองแคน โรงเรียนบ้านคุ้ม และโรงเรียนสนามบิน ระยะที่ 2 การพัฒนารูปแบบการนิเทศภายใน ตรวจสอบยืนยันความถูกต้องเหมาะสมของร่างรูปแบบการนิเทศภายใน โดยการสัมมนาอิงผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 11 คน ระยะที่ 3 การทดลองใช้รูปแบบการนิเทศภายในกับโรงเรียน 3 แห่ง เครื่องมือที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์กลุ่ม แบบบันทึกการสัมมนาอิงผู้เชี่ยวชาญ แบบศึกษาเอกสาร แบบตรวจสอบ แบบสัมภาษณ์ และแบบประเมินความพึงพอใจ วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานสำหรับข้อมูลเชิงปริมาณ และทำการวิเคราะห์เนื้อหาสำหรับข้อมูลเชิงคุณภาพ

            ผลการศึกษาพบว่า  

                 1. โรงเรียนมีสภาพปัญหาและความต้องการทั้งโดยรวมและรายด้านอยู่ในระดับมาก

                 2. รูปแบบการนิเทศภายในที่มีประสิทธิผล สำหรับโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาร้อยเอ็ด เขต 1 มี 7 องค์ประกอบ คือ 1) บุคลากร  2) การวางแผนกลยุทธ์เพื่อการนิเทศ 3) ระบบข้อมูลและสารสนเทศ 4) เทคนิคการนิเทศ 5) สื่อ แหล่งเรียนรู้ และเครื่องมือที่ใช้ในการนิเทศ  6) การประเมินผลการนิเทศ  และ 7) การสร้างเครือข่าย การเผยแพร่และขยายผลการนิเทศ

                 3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการนิเทศภายใน พบว่า โรงเรียนได้ดำเนินการตามรูปแบบการนิเทศภายในทุกองค์ประกอบ ยกเว้นการสร้างเครือข่าย การเผยแพร่และขยายผลการนิเทศ ทำให้โรงเรียนมีระบบการประกันคุณภาพภายในที่เข้มแข็ง ซึ่งบรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายของการนิเทศ

Article Details

Section
บทความวิจัย