อุดมการณ์ทางการเมืองของผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยในจังหวัดสกลนคร ระหว่าง พ.ศ. 2480 – 2509

Main Article Content

อนิรุทธิ์ เพียเทพ

Abstract

อุดมการณ์ทางการเมืองของผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยในจังหวัดสกลนครระหว่าง  พ.ศ. 2480 – 2509 

Political Ideals of Thailand’s Nation Builders in Sakon Nakhon Province in the Period 1937 – 1966

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา (1) ปัจจัยและสาเหตุที่นำไปสู่การก่อเกิดอุดมการณ์ทางการเมืองของผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยในจังหวัดสกลนครระหว่าง พ.ศ. 2480 – 2509 (2) สาระสำคัญของอุดมการณ์ทางการเมืองของผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยในจังหวัดสกลนครระหว่าง พ.ศ. 2480 – 2509 ในเรื่อง (2.1) ความไม่เข้าใจในวิถีชีวิตของประชาชนจากรัฐ (2.2) การพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยม (2.3) การต่อสู้และเรียกร้องความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมชนบท และ (3) ผลกระทบจากอุดมการณ์ทางการเมืองของผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยในจังหวัดสกลนครระหว่าง พ.ศ. 2480 – 2509 ที่ส่งผลกระทบถึงปัจจุบัน

การศึกษาวิจัยนี้ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยศึกษาจาก เอกสารสิ่งพิมพ์ เว็บไซต์ และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในจังหวัดสกลนครระหว่าง พ.ศ. 2480-2509 และโดยการสัมภาษณ์เชิงลึกอดีตผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย (สมาชิกคอมมิวนิสต์) จำนวน 1 คน ผู้ที่มีความรู้หรือเคยเข้าร่วมขบวนการคอมมิวนิสต์ในจังหวัดสกลนคร จำนวน 2 คน และนักวิชาการ 3 คน โดยทำการวิเคราะห์เนื้อหาและวิเคราะห์เชิงพรรณนา

ผลการวิจัยพบว่า (1) ปัจจัยและสาเหตุที่นาไปสู่การก่อเกิดอุดมการณ์ทางการเมืองของผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยในจังหวัดสกลนครระหว่าง พ.ศ. 2480 – 2509 นั้นเกิดจากระบบคอมมิวนิสต์ในต่างประเทศได้เผยแพร่เข้าสู่ประเทศไทย โดยใช้กลวิธีดึงประชาชนที่ผิดหวังต่อนโยบายและแนวคิดของรัฐบาลและปัญหาสังคมไทยมาเป็นแนวร่วม โดยเฉพาะจังหวัดสกลนครเป็นพื้นที่ที่มีปัจจัยที่เอื้ออำนวย ได้แก่ สภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ สภาพความเป็นอยู่ การดูแลของภาครัฐที่ยังมีให้ไม่ทั่วถึงและขาดความเป็นธรรมในสังคม นำไปสู่แนวคิดที่ขัดแย้งระหว่างชนชั้นปกครองกับผู้ถูกปกครอง ระบบราชการไม่มีความยุติธรรมในการบริหารราชการ รวมไปถึงการปราบปรามของภาครัฐที่เข้มงวดจนเกินไป จนราษฎรบางส่วนต้องได้รับความทุกข์ยากหมดทางเลือกต้องเข้าร่วมเป็นผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (2) สาระสำคัญของอุดมการณ์ทางการเมืองของผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยในจังหวัดสกลนครระหว่าง พ.ศ. 2480 – 2509  คือ ความต้องการการปกครองที่ดีจากภาครัฐและสร้างความเป็นธรรมในสังคม เป็นการต่อสู้และเรียกร้องความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมชนบทหรือภาคอีสาน (3) ทางด้านผลกระทบจากอุดมการณ์ทางการเมืองของผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยในจังหวัดสกลนครระหว่าง พ.ศ. 2480 – 2509 นั้นได้ส่งผลกระทบทำให้เกิดขบวนการคอมมิวนิสต์รวมถึงอุดมการณ์ที่มีแนวทางต่างกันกับฝ่ายรัฐ มีอาวุธ มีมวลชนของตน นำมาสู่การเกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชนในพื้นที่ ก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม ผู้ที่มีอุดมการณ์ทางคอมมิวนิสต์ถูกกำจัดออกจากสังคมด้วยมาตรการต่างๆ ที่ไม่เป็นธรรม จนเกิดการสูญเสียชีวิต ไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของคนในพื้นที่ เกิดการเรียกร้องทางสังคมขึ้น ต้องพยายามต่อสู้ตามวิถีทางของตนเพื่อแก้ไขปัญหาในท้องถิ่น การต่อสู้ดังกล่าว กลายมาเป็นแรงกระตุ้นและเป็นการวางรากฐานของการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในจังหวัดสกลนครให้รู้จักสิทธิและสามารถทำงานต่อไปในสังคมได้


Article Details

Section
บทความวิจัย