แนวทางลดต้นทุนในการเลี้ยงโคนมของเกษตรกรสมาชิกสหกรณ์โคนมภูพานสกลนคร จำกัด

Main Article Content

Phornphat Chaisombut

Abstract

     การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา  (1)  สภาพการเลี้ยงโคนมและปัญหาอุปสรรคในการเลี้ยงโคนมของเกษตรกร  (2) ต้นทุนผลตอบแทน และแนวทางการลดต้นทุนในการเลี้ยงโคนมของเกษตรกร เก็บรวบรวมข้อมูลการผลิตน้ำนมดิบจากเกษตรกรในเดือนมกราคม-ธันวาคม 2558 จำนวน 41 ตัวอย่าง ใช้แบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา และการวิเคราะห์ SWOT ผลการศึกษา พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นเพศชาย อายุเฉลี่ย 46 ปี ประกอบอาชีพเลี้ยงโคนมเป็นอาชีพหลัก  มีประสบการณ์เฉลี่ย 12 ปี นิยมเลี้ยงโคนมลูกผสมพันธุ์โฮสไตน์ฟรีเชี่ยนระดับสายเลือดมากกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่เป็นฟาร์มขนาดเล็ก มีโคนมเฉลี่ย 18 ตัวต่อครัวเรือน ผลิตน้ำนมเฉลี่ย 12.71 กิโลกรัมต่อตัวต่อวัน ราคาน้ำนมที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ย 18 บาทต่อกิโลกรัม  มีต้นทุนการผลิตที่เป็นเงินสดเฉลี่ย 14.58 บาทต่อกิโลกรัม กำไรในต้นทุนเงินสดเฉลี่ย 3.42 บาทต่อกิโลกรัม หากพิจารณาต้นทุนผลทางเศรษฐศาสตร์ พบว่า เกษตรกรมีต้นทุนเฉลี่ย 24.60 บาทต่อกิโลกรัม  ซึ่งขาดทุน 6.60 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้นอกจากเกษตรกรมีรายได้ทางตรงจากการขายน้ำนมดิบแล้ว ยังมีรายได้ทางอ้อม คือ รายได้จากการขายมูลโค โคนมคัดทิ้ง แม่โคพันธุ์ดี แม่โคหมดสภาพ และลูกโค แนวทางการลดต้นทุนในการเลี้ยงโคนม ได้แก่ การใช้อาหารข้นที่มีคุณภาพและให้ในปริมาณเหมาะสม การปลูกพืชอาหารสัตว์ที่มีคุณภาพและเพียงพอ การจัดหาแม่พันธุ์โคนมที่ดีมีคุณภาพมาเลี้ยง การใช้เงินทุนดอกเบี้ยต่ำ การจัดสรรแรงงานให้เหมาะสมกับจำนวนโคนม การจัดทำบัญชีฟาร์ม และการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง ส่วนปัญหาอุปสรรคในการเลี้ยงโคนมของเกษตรกรที่อยู่ในระดับมาก คือ อาหารข้นราคาแพง

Article Details

Section
บทความวิจัย